Skip to content

บัญชี ภาษี ปั๊มน้ำมัน 29 ข้อผิดพลาด

บัญชี ภาษี ปั๊มน้ำมัน 29 ข้อผิดพลาดกับสรรพากร

รับทำบัญชี กิจการซื้อมาขายบัญชี ภาษี ปั๊มน้ำมัน 29 ข้อผิดพลาดและข้อหารือภาษีอากร ของกรมสรรพากร  ในบทความนี้ เราจะมาสรุปรวม 29 ข้อผิดพลาดของกิจการปั๊มน้ำมัน  กับกฎระเบียบเงื่อนไขการปฎิบัติของกรมสรรพากร     ซึ่งเป็นข้อตรวจที่พบเจอจากการตรวจสอบของกรมสรรพากรในการเข้าตรวจ กิจการสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง  สถานีบริการก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) และก๊าซธรรมชาติ (NGV)   ส่งผลให้เจ้าของปั๊มน้ำมันที่มีข้อผิดพลาดต้องมีภาระภาษีจ่ายกรมสรรพากรเพิ่มขึ้น ทั้งภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีหัก ณ ที่จ่าย ภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และภาษีอื่นๆ  บทความนี้จะช่วยสรุปข้อผิดพลาด บัญชี ภาษี ปั๊มน้ำมัน  เพื่อป้องกันค่าใช้จ่ายทางภาษีที่อาจเกิดขึ้นได้

รับทำบัญชี ปั๊มน้ำมัน

บัญชี ภาษี ปั๊มน้ำมัน ในส่วนของรายได้ ค่าใช้จ่ายของปั๊มน้ำมัน เพื่อใช้ในการจัดทำบัญชี และจัดส่งภาษีให้กรมสรรพากร มาจากส่วนไหนบ้าง

รายได้หลักจากปั๊มน้ำมัน

รายได้หลัก ได้แก่ รายได้จากการขายน้ามัน และก๊าซ.

รายได้จากธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง

รายได้อื่น ได้แก่ รายได้จากการประกอบการอื่น อาจจะจัดทำเองหรือให้ผู้อื่นมาดำเนินการ

ค่าใช้จ่ายของปั๊มน้ำมัน

– ค่าน้ามัน ก๊าซ
– เงินเดือน ค่าจ้าง สวัสดิการ
– ค่าเช่า   – ค่าซ่อมแซม บารุงรักษา
– ค่าใช้จ่ายในด้านการตลาด ค่าส่งเสริมการขาย
– ค่าประกันภัย   – ค่าเสื่อมราคาทรัพย์สิน
– ดอกเบี้ยจ่าย     – ค่าที่ปรึกษา
– ค่าไฟฟ้า ค่าน้าประปา ค่าโทรศัพท์     – ค่าขนส่ง
– ฯลฯ

ประเภทกิจการปั๊มน้ามัน / สถาบริการน้ำมัน / เปรียบเทียบข้อแตกต่างของการจดทะเบียนบุคคลธรรมดา / นิติบุคคล  รายงานภาษีน้ัำมัน ส่วน ก รายงานภาษีน้ำมัน ส่วน ข และรายงานภาษีน้ำมันส่วน ค คืออะไร ต้องจัดทำอย่างไร ภายในระยะเวลาเมื่่อไหร่ การออกใบกำกับภาษีมีเงื่อนไขอย่างไร ปั๊มน้ำมันสามารถออกใบกำกับภาษีอย่างย่อได้หรือไม่ และต้องขออนุมัติกรมสรรพากรก่อนหรือไม่ – กดอ่าน 

ภาษีที่เกี่ยวข้องกับ บัญชี ภาษี ปั๊มน้ำมัน /สถานีบริการน้ำมัน

ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 54) เรื่อง กำหนดลักษณะและเงื่อนไขของการประกอบกิจการขายสินค้าหรือให้บริการรายย่อย การออกใบกำกับภาษีของผู้ประกอบการจดทะเบียน ตามมาตรา 86/8 แห่งประมวลรัษฎากร และการเก็บรักษารายงาน ตามมาตรา 87/3 แห่งประมวลรัษฎากร

ประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 89) เรื่อง กำหนดแบบหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไข เกี่ยวกับการจัดทำรายงาน การลงรายการในรายงาน การเก็บใบกำกับภาษีและเอกสารหลักฐานอื่นที่ใช้ประกอบการลงรายงานภาษีซื้อตามมาตรา87 และมาตรา 87/3 วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร

บัญชี ภาษี ปั๊มน้ำมัน 29 ประเด็นปัญหาข้อผิดพลาดในการจัดทำบัญชี และการตรวจสอบภาษีที่พบในกิจการปั๊มน้ำมัน(สรรพากร)

1.  มีการจ่ายส่วนลดส่งเสริมการขาย และมีการรับเงินชดเชยน้ำมัน แต่ผู้ประกอบการ มักไม่นำมารวมคำนวณเป็นรายได้ พบได้จากการที่ผู้จ่าย / ผู้ให้ค่าส่งเสริม หัก ณ ที่จ่ายนำส่งไว้ แล้วกิจการไม่นำมารวมเป็นรายได้

2.  ขายน้ำมันโดยไม่ผ่านมิเตอร์หัวจ่าย และไม่ออกใบกำกับภาษีขาย   – จำนวนหน่วยขายไม่ตรงกับที่รับเข้า สินค้าขาดสต๊อก

3.  ไม่ได้นำส่วนลดการซื้อน้ำมันมารวมคำนวณเป็นรายได้หรือนำมาหักรายจ่ายค่าซื้อน้ำมัน – ต้นทุนสูงเกินไป กำไรต่ำไป

4. รายได้ค่าขนส่ง ไม่สัมพันธ์กับรายจ่าย เช่น กิจการที่มีรถสาหรับขนส่งน้ำมัน และมีค่าใช้จ่าย เกี่ยวกับค่าน้ำมันรถเพิ่มขึ้น แต่ ไม่มีรายได้ค่าขนส่ง

5. ยื่นรายรับตามแบบ ภ.พ.๓๐ และ รายได้ตามแบบ ภ.ง.ด.๕๐ ขาด  – คือรายได้ตาม แบบภงด 50 ต่ำกว่ายอดรายได้ตามแบบ ภพ 30 (ควรตรวจพบก่อนยื่นงบ หรือก่อนการเสียภาษีประจำปี)

6.  ไม่นำค่าเช่ามาลงเป็นรายได้ – กระทบ รายได้ยื่นคำนวณแบบภาษีเงินได้นิติบุคคลประจำปี (ภงด 50)

7.  มีรายการหักยอดน้ำมันใช้เองและรายการทดสอบน้ำมันสูงผิดปกติ  – สินค้าขาดสต๊อก    สินค้าขาดสต๊อกควรทำอย่างไร (อ่านต่อ)

8. นำรายได้ไปเสียภาษีไม่ครบถ้วน โดยเป็นการสร้างส่วนลดหน้าปั๊มเป็นจำนวนค่อนข้างสูง หรือ ยอดขายตามมิเตอร์หัวจ่าย แตกต่าง จากยอดขายทางบัญชี ทำให้ยอดขายขาด หรือ ขายในราคาขายปลีก แต่ลงบัญชีในราคาขายส่ง

9.   ไม่นำรายได้จากการจำหน่ายน้ำมันหล่อลื่นมาลงเป็นรายได้และนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มไม่ครบถ้วน – บันทึกรายได้ไม่ครบถ้วนส่งผลต่อภาษีมูลค่าเพิ่ม และ รายได้ยื่นคำนวณแบบภาษีเงินได้นิติบุคคลประจำปี (ภงด 50)

10. ราคาขายน้ำมันไม่เป็นไปตามราคาประกาศของบริษัทแม่

11. มียอดซื้อน้ำมันต่อยอดขายน้ำมันสูง มีการนำน้ำมันไปใช้ในกิจการขนส่ง หรือซื้อใส่ถังแยกไว้ต่างหากเพื่อใช้ในกิจการขนส่ง – รายจ่ายบันทึกปะปนกันระหว่างกิจการ หรือ รายจ่ายไม่เกี่ยวข้องกับกิจการ

12.ไม่ได้เฉลี่ยภาษีซื้อ กรณีประกอบกิจการจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิง (ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม) และรับจ้างขนส่งน้ำมัน (ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม) โดยได้นำสินทรัพย์ สินค้า หรือบริการ ที่ได้มาหรือได้รับมาไปใช้ ในการประกอบกิจการทั้งสองประเภท หรือไม่ได้เฉลี่ยภาษีซื้อ กรณีมีรายได้จากการให้เช่าสถานประกอบการ แต่รายจ่ายค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้า นำไปหักเป็นรายจ่ายของผู้ประกอบการทั้งหมด

13.   ปริมาณยอดซื้อน้ำมันมีมากกว่าขนาดของถังบรรจุน้ำมันของกิจการทั้งหมด

14. มีการซื้อทรัพย์สินในนามสถานประกอบการ โดยเป็นทรัพย์สินที่ไม่เกี่ยวข้องกับการประกอบการ เช่น มีรถบรรทุกส่วนบุคคล รถยนต์นั่ง หลายคัน ทาให้ค่าใช้จ่ายของกิจการสูงเกินจริง หรือมีการลงบัญชีทรัพย์สินสูงเกินจริง -รายจ่ายที่ไม่เกี่ยวข้องกันกิจการต้องบวกกลับตอนยื่นคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคล ภงด. 50

15.  มีการบันทึกรายจ่ายเกี่ยวกับรายจ่ายพนักงานสูงเกินข้อเท็จจริงในการประกอบ และอื่นๆ – ตรวจสอบการมีตัวตนของพนักงาน จำนวนพนักงานจริง การทำงานจริง

16.  มีการบันทึกค่าเช่าสูงเกินความเป็นจริง เมื่อเทียบเคียงกับกิจการประเภทเดียวกัน และ อยู่บริเวณใกล้เคียงกัน ทำให้ทราบว่ากิจการบันทึกค่าเช่าสูงผิดปกติ –

17.  มีดอกเบี้ยจ่ายเกิดจากการซื้อทรัพย์สินที่ไม่เกี่ยวข้องกับกิจการ เช่น เช่าซื้อรถยนต์นั่ง รถตู้ เป็นต้น -รายจ่ายที่ไม่เกี่ยวข้องกันกิจการต้องบวกกลับตอนยื่นคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคล ภงด. 50

18. คำนวณอัตราระเหยน้ำมัน สูงกว่าอัตราระเหยที่กฎหมายก าหนด โดยสุ่มวัดปริมาณน้ำมันแต่ละชนิด กรณีน้ำมันคงเหลือน้อยกว่ารายงานสินค้าและวัตถุดิบ ทั้งนี้ ในส่วนที่ขาดเกินร้อยละ ๐.๕ ของปริมาณน้ำมันที่มีเพื่อขาย ซึ่งเป็นอัตราการระเหยน้ำมันตามสภาพปกติ

19. รายจ่ายค่าปรับปรุงภูมิทัศน์ ซึ่งมีจำนวนเงินค่อนข้างสูง เป็นรายจ่ายทรัพย์สิน มีอายุการใช้งาน เกิน ๑ ปี นำไปหักเป็นค่าใช้จ่ายทั้งจำนวนในรอบบัญชีนั้นควรบันทึกเป็นทรัพย์สินหักค่าเสื่อมทุกปี ไม่บันทึกเป็นค่าใช้จ่าย

20. ไม่จัดทำรายงานแสดงรายละเอียดการขายน้ำมันเชื้อเพลิงแต่ละชนิด (ส่วน ก ข ค) หรือ ทำไม่ถูกต้อง มีการหักอัตราระเหยน้ำมันในรายงานส่วน ก ทำให้น้ำส่งยอดขายและภาษีขายไม่ครบถ้วน หรือ

      กรณีมีสาขา ก็ไม่ได้จัดทำรายงานฯ เป็นรายสถานประกอบการ หรือ กรณีขายส่งไม่จัดทำรายงานสินค้าและวัตถุดิบ หรือ  ลงรายงานสินค้าคงเหลือไม่เป็นปัจจุบัน

(จัดทำรายงานน้ำมันส่วน ก  ส่วน ข ส่วน ค ไม่ถูกต้อง โดยรายงานน้ำมันส่วน ก  คือ รายงานแสดงรายละเอียดการขายน้ำมันเชื้อเพลิงแต่ละชนิด (ส่วน ก.) ซึ่งต้องจัดทำเป็นรายวันอยู่แล้ว และให้ลงรายการภายในสามวันทำการนับแต่วันที่จัดทำรายงานแสดงรายละเอียดการขายน้ำมันเชื้อเพลิงแต่ละชนิด (ส่วน ก.) )

21. กิจการขายส่งน้ำมันเชื้อเพลิง ผู้ซื้อไม่เอาใบกำกับภาษีซื้อ จึงออกใบกำกับภาษีขายโดยเขียนชื่อผู้ซื้อ ไม่มีตัวตน หรือ ออกใบกำกับภาษีขายให้กับลูกค้าเก่าที่ไม่ได้ซื้อสินค้าแล้ว

22. ผู้ประกอบการรายใหม่ เช่า หรือ ซื้อ สถานประกอบการเดิม ไม่ขออนุมัติให้สถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นผู้ประกอบการกิจการขายสินค้าหรือให้บริการรายย่อย (เก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากมิเตอร์หัวจ่าย) เนื่องจากเข้าใจว่าได้รับอนุมัติต่อเนื่องจากผู้ประกอบการรายเดิมแล้ว

23. กิจการมีทั้งรายได้ที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม และรายได้ที่ไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่นำใบกำกับภาษีขายมาออกสำหรับรายได้ที่ไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม เช่น สหกรณ์การเกษตร

24. รายได้ดอกเบี้ยรับ คำนวณอัตราดอกเบี้ย ต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยจ่าย  เงินกู้ยืมกรรมการอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าที่กิจการไปกู้ยืมมาจากสถาบันการเงิน

25. กรณีนำน้ำมันมาใช้ในกิจการ ได้จัดทำใบกำกับภาษีขายให้กับตนเอง – ไม่ได้ยื่นภาษีขาย

26.กิจการได้ขายน้ำมันชนิดใหม่ แต่ไม่ได้จัดทำรายงานการเปลี่ยนแปลงมิเตอร์หัวจ่าย และไม่น้ำรายรับ มารวมคำนวณยื่นแบบ ภ.พ.๓๐ และ ภ.ง.ด.๕๐

27. กรณีที่ประกอบกิจการสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงหลายกิจการ ซึ่งเป็นเจ้าของคนเดียวกัน แต่ใช้หลักฐานใบกำกับการขนส่งน้ำมันชุดเดียวกัน

28. ไม่หักภาษี ณ ที่จ่าย นำส่ง เช่น ค่าเช่า ค่าสอบบัญชี ค่าทำบัญชี เป็นต้น  พนักงานบัญชีไม่ทักท้วง ขณะจ่ายเงิน อาจแก้ปัญหาโดยการติดตามขอคืนเงินส่วนเกินภาษี และนำส่งภายในเดือนนั้นๆ หรือยื่นแบบเพิ่มเติมกรณีจัดส่งล่าช้า

29. กรณีที่ประกอบกิจการสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงหลายกิจการ ซึ่งเป็นเจ้าของคนเดียวกัน ได้ซื้อน้ำมันมาจำหน่ายโดยนำหลักฐานใบกำกับภาษีซื้อมาใช้เครดิตภาษีมูลค่าเพิ่มในกิจการใดกิจการหนึ่ง แต่นำน้ำมันเชื้อเพลิงไปจำหน่ายในกิจการอื่น ๆ – ไม่แยกรายได้ต้นทุนในแต่ละกิจการให้ชัดเจน ใช้ปะปนกัน

กรมสรรพากร บัญชี ภาษี ปั๊มน้ำมัน

ข้อหารือภาษีอากร

ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการให้เช่าที่ดินเพื่อติดตั้งเครื่องรับฝาก-ถอนเงินอัตโนมัติ (ATM) - เงินได้จากการให้บริการ

เลขที่หนังสือ: กค 0702/พ./3173
วันที่: 3 พฤษภาคม 2554
เรื่อง: ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการให้เช่าที่ดินเพื่อติดตั้งเครื่องรับฝาก-ถอนเงินอัตโนมัติ (ATM)
ข้อกฎหมาย: มาตรา 77/1(10) มาตรา 77/2(1) มาตรา 82/3 มาตรา 78/1 มาตรา 82/4 และมาตรา 86 แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ          สัญญาเช่าฯ ตกลงให้ธนาคาร ก. เช่าพื้นที่ เนื้อที่ ๖.๐๐ ตารางเมตร ตั้งอยู่บริเวณด้านหน้าของการไฟฟ้าฯ เพื่อใช้เป็นที่ติดตั้งเครื่องรับฝาก-ถอนเงินอัตโนมัติ (ATM) โดยมีอัตราค่าเช่า ๖,๐๐๐ บาทต่อเดือน ระยะเวลาการเช่า ๓ ปี เป็นเงินค่าเช่าทั้งสิ้น ๒๑๖,๐๐๐ บาท
          จึงขอทราบว่า สัญญาให้ใช้ประโยชน์ในที่ดินดังกล่าว เข้าลักษณะเป็นการเช่าอสังหาริมทรัพย์ จึงได้รับการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา ๘๑(๑)(ต) แห่งประมวลรัษฎากร
แนววินิจฉัย

          กรณีการไฟฟ้าฯ ทำสัญญาให้ธนาคารฯ เช่าพื้นที่เพื่อใช้ติดตั้งเครื่อง ATM หากการไฟฟ้าฯ ไม่มีการส่งมอบการครอบครองพื้นที่ให้แก่ธนาคารฯ โดยเด็ดขาด และธนาคารฯ ไม่มีสิทธิหวงกันพื้นที่ที่เช่าได้ การไฟฟ้าฯ ยังคงเป็นผู้ควบคุมดูแลบริเวณที่เช่าตลอดจนอำนวยความสะดวกให้กับธนาคารฯ โดยกรณีดังกล่าว เข้าลักษณะเป็นการให้บริการในทางธุรกิจหรือวิชาชีพตามมาตรา ๗๗/๑(๑๐) แห่งประมวลรัษฎากร

การไฟฟ้าฯ ต้องนำค่าบริการที่ได้รับไปรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา ๗๗/๒(๑) และมาตรา ๘๒/๓ แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้นตามมาตรา ๗๘/๑ แห่งประมวลรัษฎากร โดยการไฟฟ้าฯ ต้องออกใบกำกับภาษีให้แก่ผู้รับบริการ และเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากผู้รับบริการ เมื่อความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้น ตามมาตรา ๘๒/๔ และมาตรา ๘๖ แห่งประมวลรัษฎากร

เลขตู้: 73/37718

ภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีเงินได้ กรณีรับเงินชดเชยค่าภาษีน้ำมันและการนำส่งเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง

เลขที่หนังสือ: กค 0702/9513
วันที่: 30 พฤศจิกายน 2553
เรื่อง

: ภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีเงินได้ กรณีรับเงินชดเชยค่าภาษีน้ำมันและการนำส่งเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงตามคำสั่งนายกรัฐมนตรี

ข้อกฎหมาย: มาตรา 40(8) มาตรา 65 มาตรา 69 ทวิ มาตรา 77/2 มาตรา 79 มาตรา 82/3 มาตรา 82/5(1) และมาตรา 84 แห่งประมวลรัษฎากร

ข้อหารือ

          บริษัทฯ ประกอบกิจการสถานีบริการน้ำมัน ได้รับเงินชดเชยภาษีน้ำมันจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง จากการปรับลดอัตรา ภาษีสรรพสามิตตามคำสั่งนายกรัฐมนตรีเพื่อช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนตามปริมาณน้ำมันเชื้อเพลิงคงเหลือ สุทธิ จึงขอทราบว่า
          1. เงินชดเชยฯ ที่บริษัทฯ ได้รับจากกองทุนฯ บริษัทฯ ต้องนำรายได้ดังกล่าวไปคำนวณเพื่อชำระภาษีมูลค่าเพิ่มหรือไม่ เพราะเหตุใด
          2. เงินชดเชยฯ ที่บริษัทฯ ได้รับตาม 1. บริษัทฯ ต้องนำไปคำนวณรวมเป็นรายได้ในการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคล สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีที่ได้รับจ่ายหรือไม่ เพราะเหตุใด
          3. เงินชดเชยฯ ที่บริษัทฯ ได้รับตาม 1. จะต้องถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายหรือไม่ เพราะเหตุใด และอัตราเท่าใด
          4. บริษัทฯ สามารถนำเงินที่จ่ายเงินเข้ากองทุนฯ ไปคำนวณรวมเป็นภาษีซื้อในแบบ ภ.พ.30 ของเดือนที่จ่ายไปได้หรือไม่ เพราะเหตุใด
          5. บริษัทฯ สามารถนำเงินที่จ่ายเงินเข้ากองทุนฯ ไปเป็นรายจ่ายในการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับรอบระยะเวลา บัญชีที่ได้จ่ายหรือไม่ เพราะเหตุใด

แนววินิจฉัย

          กรณีบริษัทฯ ประกอบกิจการสถานีบริการน้ำมันได้รับเงินชดเชยภาษีน้ำมันจากกองทุนฯ เนื่องจากมาตรการช่วยเหลือ ประชาชนในการลดอัตราภาษีสรรพสามิต ซึ่งเป็นไปตามหลักเกณฑ์ของคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 2/2546 เรื่อง กำหนดมาตรการเพื่อ แก้ไขและป้องกันภาวะการขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิง ลงวันที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2546 โดยกำหนดให้ผู้ค้าน้ำมันส่งเงินเข้ากองทุนฯ ในปริมาณน้ำมันคงเหลือสุทธิ และมาตรการลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันเชื้อเพลิง โดยกำหนดให้ผู้ค้าน้ำมันและเจ้าของสถานี บริการน้ำมันได้รับเงินชดเชยจากกองทุนฯ ในปริมาณน้ำมันเชื้อเพลิงที่คงเหลืออยู่ ณ เวลา 24.00 น. ของวันก่อนวันที่ราคาขาย ปลีกใหม่มีผลใช้บังคับ ซึ่งทั้งสองกรณีมีภาระภาษีดังต่อไปนี้
          1. กรณีภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย เงินชดเชยที่บริษัทฯ ได้รับจากกองทุนฯ เข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(8) แห่งประมวลรัษฎากร เมื่อกองทุนฯ เป็นหน่วยงานที่จัดตั้งขึ้นตามคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 2/2546ฯ ลงวันที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2546 จึงเป็นกรณีรัฐบาลจ่ายเงินได้พึงประเมิน ตามมาตรา 40 ให้แก่บริษัทฯ กองทุนฯ มีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย โดยคำนวณ หักไว้ในอัตราร้อยละ 1.0 ตามมาตรา 69 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร
          2. กรณีภาษีมูลค่าเพิ่ม เงินชดเชยที่บริษัทฯ ได้รับจากกองทุนฯ ตามข้อเท็จจริงดังกล่าว เป็นไปตามหลักเกณฑ์ของคำสั่ง นายกรัฐมนตรีที่ 2/2546ฯ ลงวันที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2546 ไม่ใช่ค่าตอบแทนที่ผู้ค้าน้ำมันและเจ้าของสถานีบริการน้ำมันได้รับ เนื่องจากการขายสินค้าหรือให้บริการ จึงไม่เป็นมูลค่าของฐานภาษี และไม่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 79 และ มาตรา 77/2 แห่งประมวลรัษฎากร สำหรับเงินชดเชยที่บริษัทฯ จ่ายเข้ากองทุนฯ เมื่อกองทุนฯ มิใช่ผู้ประกอบการจดทะเบียน ภาษีมูลค่าเพิ่ม บริษัทฯ จึงไม่มีสิทธินำใบเสร็จรับเงินที่กองทุนฯ ออกให้ มาถือเป็นภาษีซื้อในการคำนวณเพื่อเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 82/3 มาตรา 82/5(1) และมาตรา 84 แห่งประมวลรัษฎากร
          3. กรณีภาษีเงินได้นิติบุคคล บริษัทฯ ต้องนำเงินชดเชยที่ได้รับจากกองทุนฯ มาถือเป็นรายได้ และนำเงินชดเชยที่นำส่งเข้า กองทุนฯ มาถือเป็นรายจ่าย โดยใช้เกณฑ์สิทธิในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีนั้น ตามมาตรา 65 แห่งประมวลรัษฎากร
เลขตู้: 73/37627

ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการเครดิตภาษีซื้อค่าน้ำมันรถยนต์กระบะ - ไม่ต้องห้ามนำมาเครดิตภาษีซื้อได้

เลขที่หนังสือ

: กค 0811/พ.02340

วันที่

: 24 กุมภาพันธ์ 2541

เรื่อง

: ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการเครดิตภาษีซื้อค่าน้ำมันรถยนต์กระบะ

ข้อกฎหมาย

: ประเด็นปัญหา

ข้อหารือ

: บริษัทฯ ประกอบกิจการให้เช่าซื้อรถยนต์ พนักงานเก็บเงินค่าเช่าซื้อของบริษัทฯ จะต้องนำยานพาหนะส่วนตัวมาใช้ในการเก็บเงินค่าเช่าซื้อของบริษัทฯ ซึ่งประกอบด้วยรถยนต์กระบะและรถยนต์กระบะสเปซแคป จำนวน 12 คัน
โดยบริษัทฯ มีระเบียบการจ่ายค่าน้ำมันในการเดินทางไปติดต่อลูกค้าของพนักงาน กล่าวคือ พนักงานจะต้องทำใบเบิกและทำรายงานการเดินทางในแต่ละครั้งว่ามีผลสำเร็จประการใดขออนุมัติจากผู้มีอำนาจ ทั้งจะต้องมีใบเสร็จรับเงินค่าน้ำมันดีเซลที่ระบุชื่อของบริษัทฯ พร้อมเลขทะเบียนรถยนต์ประกอบการเบิกด้วย

บริษัทฯเห็นว่าภาษีซื้อค่าน้ำมันดีเซลตามข้อเท็จจริงดังกล่าวไม่เป็นภาษีซื้อต้องห้ามตามมาตรา 82/5 (3) แห่งประมวลรัษฎากร เพราะรายจ่ายค่าน้ำมันดีเซลเป็นรายจ่ายเพื่อหากำไรหรือเพื่อกิจการโดยเฉพาะ ตามข้อ 4 ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 17)ฯ จึงหารือว่าความเห็นดังกล่าวถูกต้องหรือไม่

แนววินิจฉัย

: รถยนต์กระบะและรถยนต์กระบะสเปซแคปของพนักงานทั้ง 12 คันดังกล่าว เข้าลักษณะเป็นรถยนต์กระบะ ตามพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต ภาษีซื้อค่าน้ำมันดีเซลที่บริษัทฯจ่ายให้พนักงานตามระเบียบการจ่ายค่าน้ำมัน เฉพาะที่จ่ายเพื่อหากำไรหรือเพื่อกิจการโดยเฉพาะ ถือเป็นภาษีซื้อที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการประกอบกิจการ และเป็นภาษีซื้อที่ไม่เกี่ยวข้องกับรถยนต์นั่งหรือรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน ไม่ต้องห้ามไม่ให้นำมาหักในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 82/3 แห่งประมวลรัษฎากร

ทั้งนี้ ตามมาตรา 82/5 (3) (6)แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ 4 ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 17)เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ และเงื่อนไขเกี่ยวกับภาษีซื้อที่ไม่ให้นำไปหักในการคำนวณภาษี ตามมาตรา 82/5 (1) (2) (3) และ (4) แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2534 และข้อ 2 (1) ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 42) เรื่อง การกำหนดภาษีซื้อที่ไม่ให้นำไปหักในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 82/5 (6) แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2535 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 71)ฯ ลงวันที่ 27ธันวาคมพ.ศ. 2534

เลขตู้

: 61/26436

ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการใช้สิทธิขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม- บัตร Fleet card

เลขที่หนังสือ: กค ๐๗๐๒/พ.๒๕๘๒
วันที่: ๒๐ เมษายน ๒๕๖๐
เรื่อง: ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการใช้สิทธิขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม
ข้อกฎหมาย: มาตรา ๘๖/๔ ประกาศ VAT ฉ.๓๙
ข้อหารือ

          ๑.บริษัทฯ ประกอบกิจการให้บริการเช่ายานพาหนะ (รถยนต์) แก่บุคคลทั่วไป ซึ่งลูกค้าของบริษัทฯ มีทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล และมีขั้นตอนในการเช่ารถยนต์ดังนี้

               ๑.๑กรณีลูกค้าที่ประสงค์จะเช่ารถยนต์กับบริษัทฯ เป็นรายเดือนหรือรายปี เมื่อทำสัญญาเช่ากันเรียบร้อยแล้ว บริษัทฯ จะส่งมอบรถยนต์ให้แก่ลูกค้า ณ ที่ตั้งที่เป็นสถานประกอบการของลูกค้าหรือสถานที่อื่นตามที่ลูกค้าแจ้งความประสงค์ให้นำรถยนต์ไปส่งมอบ โดยบริษัทฯ จะเติมน้ำมันจนเต็มถังบรรจุก่อนส่งมอบ และทุกสิ้นเดือน บริษัทฯ จะออกใบกำกับภาษีขาย/ใบแจ้งหนี้เพื่อเรียกเก็บเงินค่าบริการเช่ารถยนต์จากลูกค้าตลอดอายุสัญญาเช่า

               ๑.๒เมื่อสิ้นสุดสัญญาเช่า ลูกค้าจะส่งมอบรถยนต์คืนให้แก่บริษัทฯ ณ สถานที่ที่บริษัทฯ ได้ส่งมอบรถยนต์ให้แก่ลูกค้าตาม ๑.๑ โดยลูกค้าจะต้องเติมน้ำมันให้เต็มถังบรรจุด้วย และพนักงานของบริษัทฯ จะไปตรวจสอบสภาพรถยนต์และขับกลับมาจอดที่บริษัทฯ

               ๑.๓กรณีรถยนต์ที่ลูกค้าเช่าไปนั้น มีปัญหาขัดข้องหรือเสียหายจนใช้การไม่ได้ตามปกติอีกต่อไป เช่น เกิดอุบัติเหตุ เป็นต้น บริษัทฯ จะจัดหารถยนต์คันใหม่ทดแทนให้แก่ลูกค้าทันที โดยจะส่งมอบ ณ สถานที่ที่ลูกค้าแจ้งความประสงค์ให้นำรถยนต์ไปส่งมอบ และอาจมีบางกรณีที่รถยนต์ถึงกำหนดต้องเข้าศูนย์ซ่อมบำรุงตามระยะที่กำหนด บริษัทฯ จะอำนวยความสะดวกให้แก่ลูกค้า โดยจะนำรถยนต์ไปเข้าศูนย์บริการให้แก่ลูกค้า และนำรถยนต์อีกคันไปให้ลูกค้าใช้บริการเป็นการชั่วคราว

               ๑.๔บริษัทฯ จำเป็นต้องเติมน้ำมันในรถยนต์ที่ให้เช่าตามที่กล่าวมาตาม ๑.๑ – ๑.๓ ให้เต็มถังบรรจุ เพื่อให้เป็นไปตามข้อตกลงในสัญญาเช่า ซึ่งการเติมน้ำมันดังกล่าว บริษัทฯ จะชำระค่าน้ำมันด้วยบัตรฟลีทการ์ด (Fleet Card) (บัตรเครดิตประเภทหนึ่ง ออกโดยธนาคารในประเทศไทย)

บัตรดังกล่าวมีไว้ใช้สำหรับจ่ายค่าน้ำมันเชื้อเพลิงรถยนต์เท่านั้น ซึ่งข้อมูลในบัตรจะระบุหมายเลขทะเบียนรถยนต์คันที่จะใช้บัตรเอาไว้ และเมื่อมีการนำบัตรไปใช้ สถานีบริการน้ำมันจะพิมพ์ใบกำกับภาษีแบบเต็มรูป โดยใบกำกับภาษีดังกล่าวจะระบุหมายเลขทะเบียนรถยนต์ตามที่ปรากฏอยู่ในข้อมูลของบัตรออกมาด้วย

ดังนั้น พนักงานของสถานีบริการน้ำมันจึงไม่ต้องเขียนหมายเลขทะเบียนรถยนต์ที่เข้ารับบริการด้วยหมึกลงในใบกำกับภาษีแต่อย่างใด แต่เนื่องจากบริษัทฯ มีรถยนต์ที่ใช้ในการประกอบกิจการให้เช่าประมาณ ๓๐๐ คัน ซึ่งธนาคารผู้ออกบัตรฟลีทการ์ดไม่สามารถระบุข้อมูลหมายเลขทะเบียนรถยนต์คันที่จะใช้บัตรเป็นจำนวนมากเช่นนั้นได้

จึงอนุญาตให้บริษัทฯ ใช้บัตรฟลีทการ์ดเพียงใบเดียวชำระค่าน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับรถยนต์ที่ใช้ในการประกอบกิจการของบริษัทฯ ได้ทุกคัน แต่ใบกำกับภาษีค่าน้ำมันเชื้อเพลิงที่ออกด้วยเครื่องออกใบกำกับภาษี (เครื่องบันทึกการเก็บเงิน) จะไม่สามารถระบุหมายเลขทะเบียนรถยนต์คันที่ใช้บริการเติมน้ำมันเชื้อเพลิงไว้ในใบกำกับภาษีได้ พนักงานของสถานีบริการน้ำมันจึงต้องเขียนหมายเลขทะเบียนรถยนต์ที่เข้ารับบริการด้วยหมึกลงในใบกำกับภาษีแทน

          ๒.บริษัทฯ ขอทราบว่า บริษัทฯ จะนำใบกำกับภาษีซื้อค่าน้ำมันเชื้อเพลิงที่พนักงานของสถานีบริการน้ำมันซึ่งเขียนหมายเลขทะเบียนรถยนต์ที่เข้ารับบริการด้วยหมึกลงในใบกำกับภาษีนั้นไปใช้เป็นภาษีซื้อในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มได้หรือไม่ อย่างไร

แนววินิจฉัย

          กรณีบริษัทฯ ประกอบกิจการให้เช่ารถยนต์แก่บุคคลทั่วไป และได้รับใบกำกับภาษีค่าน้ำมันที่ออกด้วยเครื่องบันทึกการเก็บเงินจากสถานบริการน้ำมันที่ขายน้ำมันเชื้อเพลิงที่ใช้เติมรถยนต์

หากใบกำกับภาษีดังกล่าวเป็นใบกำกับภาษีตามมาตรา ๘๖/๔ แห่งประมวลรัษฎากร สถานบริการน้ำมันที่ขายน้ำมันเชื้อเพลิงจะต้องระบุหมายเลขทะเบียนรถยนต์คันที่เติมน้ำมันไว้ในใบกำกับภาษีนั้นด้วย โดยข้อความที่เป็นหมายเลขทะเบียนรถยนต์นั้นจะตีพิมพ์ จัดทำขึ้นด้วยระบบคอมพิวเตอร์ ประทับตรายาง เขียนด้วยหมึก พิมพ์ดีดหรือทำให้ปรากฏขึ้นด้วยวิธีการอื่นใดในลักษณะทำนองเดียวกันก็ได้

ทั้งนี้ ตามมาตรา ๘๖/๔(๘) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ ๔ ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ ๓๙) เรื่อง กำหนดข้อความอื่นในใบกำกับภาษีตามมาตรา ๘๖/๔(๘) แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ ๒๔ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๓๕ และหากภาษีซื้อตามใบกำกับภาษีดังกล่าวไม่เข้าลักษณะเป็นภาษีซื้อต้องห้ามตามมาตรา ๘๒/๕ แห่งประมวลรัษฎากร

บริษัทฯ ย่อมสามารถนำภาษีซื้อตามใบกำกับภาษีดังกล่าวไปหักออกจากภาษีขายในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา ๘๒/๓ แห่งประมวลรัษฎากรได้

เลขตู้: ๘๐/๔๐๓๖๐

ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีใบกำกับภาษีที่พิมพ์ด้วยเครื่องพิมพ์ระบบกระดาษความร้อน

เลขที่หนังสือ

: กค 0706/พ./7761

วันที่

: 6 สิงหาคม 2550

เรื่อง

: ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีใบกำกับภาษีที่พิมพ์ด้วยเครื่องพิมพ์ระบบกระดาษความร้อน

ข้อกฎหมาย

: มาตรา 86/4 มาตรา 82/5 มาตรา 82/3 มาตรา 89(3)(4)(5)(8) และ (9) มาตรา 86 และมาตรา 86/12 แห่งประมวลรัษฎากร

ข้อหารือ

บริษัท อ. จำกัด ได้รับใบกำกับภาษีจากผู้ประกอบการบางรายซึ่งพิมพ์ด้วยเครื่องพิมพ์ระบบกระดาษความร้อน บริษัทฯ ได้นำภาษีซื้อตามใบกำกับภาษีดังกล่าวไปหักออกจากภาษีขายในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว เมื่อพ้นระยะเวลาประมาณ 5-6 เดือน ได้พบว่า ข้อความในใบกำกับภาษีหมึกพิมพ์เลือน บางฉบับข้อความจางหายไปจนไม่สามารถอ่านข้อความได้ บริษัทฯ จึงขอทราบว่า ปัญหาดังกล่าวจะมีผลต่อการบันทึกรายงานและการจัดเก็บเอกสารทางการบัญชีหรือไม่ ดังนี้

1. บริษัทฯ ในฐานะผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการจะใช้เอกสารดังกล่าวเป็นหลักฐานในการบันทึกรายงานได้หรือไม่ และต้องปฏิบัติอย่างไรเมื่อพบว่า ไม่สามารถอ่านข้อความได้

2. บริษัทฯ จะออกใบกำกับภาษีโดยใช้เครื่องพิมพ์ระบบความร้อนดังกล่าวได้หรือไม่ มีวิธีปฏิบัติอย่างไร แตกต่างจากการออกใบกำกับภาษีด้วยกระดาษทั่วไปหรือไม่

แนววินิจฉัย

1. กรณีบริษัทฯ นำใบกำกับภาษีที่พิมพ์ด้วยระบบกระดาษความร้อนไปใช้เป็นหลักฐานในการเครดิตภาษีหรือส่งมอบให้เจ้าพนักงานประเมินตรวจสอบในขณะที่มีข้อความถูกต้องครบถ้วนตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากร บริษัทฯ มีสิทธินำภาษีซื้อตามใบกำกับภาษีมาหักออกจากภาษีขายในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มได้ ไม่เป็นภาษีซื้อต้องห้ามตามมาตรา 82/5 แห่งประมวลรัษฎากร

แต่ถ้าข้อความในใบกำกับภาษีจางหายไปจนไม่สามารถอ่านข้อความได้ย่อมไม่เป็น ใบกำกับภาษีอีกต่อไป บริษัทฯ จะมีความผิดดังนี้

1.1 ผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการ กรณีไม่สามารถส่งมอบใบกำกับภาษีซื้อให้แก่เจ้าพนักงานประเมินเพื่อตรวจสอบ ถือว่าเป็นกรณีไม่มีใบกำกับภาษีซื้อ หรือไม่อาจแสดงใบกำกับภาษีได้ว่า มีการชำระภาษีซื้อ ผู้ประกอบการจึงไม่มีสิทธินำภาษีซื้อดังกล่าวไปหักออกจากภาษีขายในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 82/3 และมาตรา 82/5(2) แห่งประมวลรัษฎากร ดังนั้น

ในการยื่นแบบ ภ.พ.30 จึงถือว่าเป็นกรณียื่นแบบแสดงรายการไว้ไม่ถูกต้อง หรือมีข้อผิดพลาดอันเป็นเหตุให้จำนวนภาษีซื้อในเดือนภาษีที่แสดงไว้คลาดเคลื่อนไป

ต้องรับผิดเสียเบี้ยปรับอีกหนึ่งเท่าของจำนวนภาษีซื้อที่แสดงไว้เกินไป และเป็นเหตุให้จำนวนภาษีที่ต้องเสียในเดือนภาษีคลาดเคลื่อนไป

จึงต้องรับผิดเสียเบี้ยปรับอีกหนึ่งเท่าของเงินภาษีที่เสียคลาดเคลื่อนและยังมีความผิดในกรณีมิได้เก็บใบกำกับภาษีในกรณีภาษีซื้อที่ใช้เครดิตภาษีในการคำนวณภาษีไว้ตามที่กฎหมายกำหนด ต้องรับผิดเสียเบี้ยปรับอีกร้อยละสองของจำนวนภาษีที่นำมาเครดิต ทั้งนี้ ตามมาตรา 89(3)(4) และ (9) แห่งประมวลรัษฎากร

1.2 ผู้ขายสินค้าหรือผู้ให้บริการ กรณีไม่สามารถส่งมอบสำเนาใบกำกับภาษีสำหรับภาษีขาย ให้แก่เจ้าพนักงานประเมินเพื่อตรวจสอบ ถือว่า เป็นกรณีผู้ประกอบการมิได้จัดทำใบกำกับภาษีและส่งมอบให้แก่ผู้ซื้อหรือผู้รับบริการ ต้องรับผิดเสียเบี้ยปรับอีกสองเท่าของจำนวนภาษีตามใบกำกับภาษี และกรณีมิได้เก็บสำเนาใบกำกับภาษีสำหรับภาษีขายไว้ตามที่กฎหมายกำหนด

ต้องรับผิดเสียเบี้ยปรับอีกร้อยละสองของจำนวนภาษีตามใบกำกับภาษี ทั้งนี้ ตามมาตรา 86 มาตรา 89(5) และ (8) แห่งประมวลรัษฎากร

2. กรณีใบกำกับภาษีที่พิมพ์ด้วยเครื่องพิมพ์ระบบกระดาษความร้อนและข้อความจางหายไปจนไม่สามารถอ่านได้นั้น ผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการอาจร้องขอให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ออกใบกำกับภาษีออกใบแทนใบกำกับภาษีที่ชำรุดได้ตามมาตรา 86/12 แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับ ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 36) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขเกี่ยวกับการออกใบแทนใบกำกับภาษี ใบแทนใบเพิ่มหนี้ ใบแทนใบลดหนี้ตามมาตรา 86/12 แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2535

เลขตู้

: 70/35188

ภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีเงินได้นิติบุคคลหัก ณ ที่จ่าย กรณีเงินชดเชยเงินลงทุนสถานีบริการน้ำมัน

ลขที่หนังสือ  : กค 0811/พ.02731

 

วันที่  : 25 มีนาคม 2542

 

เรื่อง   : ภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีเงินได้นิติบุคคลหัก ณ ที่จ่าย กรณีเงินชดเชยเงินลงทุนสถานีบริการน้ำมันประเด็น

 

ข้อกฎหมาย

: มาตรา 77/1, มาตรา 80, มาตรา 82/4, มาตรา 86, คำสั่งกรสรรพากร ที่ ท.ป.4/2528 ฯ,มาตรา 587 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

 

ข้อหารือ : ห้างหุ้นส่วนจำกัด ก เป็นผู้ประกอบกิจการค้าน้ำมันโดยเป็นคู่สัญญากับบริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) โดยบริษัท บางจากฯ เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าสถานีบริการน้ำมันบางจาก และห้างฯ มีความประสงค์จำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงและผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมจากบริษัทฯ แต่เพียงผู้เดียว โดยบริษัทฯ ควบคุมดูแลและประสานงานกับผู้รับเหมาก่อสร้าง จัดหาวัสดุอุปกรณ์ให้ได้ตามคุณภาพมาตรฐาน จ่ายค่าก่อสร้างและค่าวัสดุอุปกรณ์ในระหว่างระยะเวลาก่อสร้างในนามบริษัทฯ ก่อนที่ห้างฯจะได้รับอนุมัติโครงการเงินกู้ เมื่อก่อสร้างสถานีบริการน้ำมันแล้วเสร็จ บริษัทฯ จะส่งมอบสถานีบริการน้ำมันให้แก่ห้างฯ และชำระค่างานก่อสร้างจากห้างฯ บริษัทฯ ขอทราบปัญหาภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย

 

แนววินิจฉัย

 

: 1. กรณีที่บริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) รับเป็นผู้จัดหาผู้รับเหมาก่อสร้างและจัดหาวัสดุก่อสร้างสถานีบริการน้ำมันให้แก่ห้างฯ เข้าลักษณะเป็นการรับจ้างทำของ ตามมาตรา 587แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

ดังนั้น เมื่อห้างฯ จ่ายเงินชดเชยเงินลงทุนสถานีบริการน้ำมันให้แก่บริษัท บางจากฯ ห้างฯ มีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 3.0 ของจำนวนเงินค่าจ้างทำของที่จ่ายให้บริษัท บางจากฯ ตามข้อ 8(2) แห่งคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป. 4/2528 เรื่อง สั่งให้ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 แห่งประมวลรัษฎากร มีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2528 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.19/2530 ฯ ลงวันที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2530


2. กรณีที่บริษัท บางจากฯ เป็นผู้จัดหาผู้ดำเนินการเกี่ยวกับการก่อสร้างสถานีบริการน้ำมันให้แก่ห้างฯ จึงเข้าลักษณะเป็น “การให้บริการ” ตามมาตรา 77/1 (10) แห่งประมวลรัษฎากร หากห้างฯ จ่ายเงินชดเชยเงินลงทุนสถานีบริการน้ำมันให้แก่บริษัท บางจากฯ ถือเป็นการจ่ายค่าบริการให้แก่บริษัท บางจากฯบริษัท บางจากฯ มีหน้าที่ต้องออกใบกำกับภาษีให้แก่ห้างฯ ตามมาตรา 86 แห่งประมวลรัษฎากร และมีหน้าที่เรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากห้างฯ ตามมาตรา 80 และมาตรา 82/4 แห่งประมวลรัษฎากร ห้างฯ มีสิทธินำใบกำกับภาษีดังกล่าวไปขอคืนภาษีซื้อได้

เลขตู้ : 62/27693

ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มจากการก่อสร้างอาคารบนที่ดินผู้อื่น

เลขที่หนังสือ: กค 0811(กม)/พ.1652

วันที่: 22 กันยายน 2541

เรื่อง: ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มจากการก่อสร้างอาคารบนที่ดินผู้อื่น

ข้อกฎหมาย: มาตรา 77/1(10), มาตรา 82/3

ข้อหารือ


: ห้างหุ้นส่วนจำกัด ก. ประกอบกิจการจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิง ได้ขอคืนภาษีซื้อจากการก่อสร้างสถานีบริการน้ำมัน โดยที่ดินที่ใช้ในการก่อสร้างเป็นของนาง ข. ซึ่งได้ให้ บริษัท ค. จำกัดเช่ามีกำหนดเวลา 20 ปี

 

บริษัทฯ เป็นผู้จัดหาวัสดุอุปกรณ์มาทำการก่อสร้างเองในวงเงิน 3,480,000บาท


บริษัทฯ ได้ทำสัญญาแต่งตั้งห้างหุ้นส่วนจำกัด ก. เป็นผู้ประกอบการ โดยยกกรรมสิทธิ์ของอาคารวัสดุอุปกรณ์ และสถานีบริการน้ำมันให้กับห้างฯ และบริษัทฯ ได้เรียกเก็บเงินค่าชดเชยเงินลงทุนสถานีบริการน้ำมัน จากห้างฯ เป็นเงิน 3,480,000 บาท
โดยออกใบกำกับภาษีให้กับห้างฯ เพื่อนำไปใช้เป็นภาษีซื้อ ซึ่งจังหวัดเห็นว่า อาคารสถานีบริการน้ำมันที่ก่อสร้างเป็นกรรมสิทธิ์ของ บริษัท ค. จำกัด ตามบันทึกข้อตกลง โดยบริษัทฯ เป็นผู้สร้างเองแต่ยกกรรมสิทธิ์ให้ห้างฯ ซึ่งเป็นผู้ประกอบการ สัญญาจึงขัดกันในตัว ห้างฯ ไม่มีสิทธิ์นำภาษีซื้อจากการก่อสร้างอาคารไปใช้

แนววินิจฉัย: กรณีตามข้อเท็จจริงข้างต้นแยกพิจารณาได้ดังนี้


(1) กรณีเงินชดเชยที่บริษัทฯ เรียกเก็บจากห้างฯ ถือเป็นค่าบริการตามมาตรา 77/1(10) แห่งประมวลรัษฎากร บริษัทฯ มีหน้าที่ต้องออกใบกำกับภาษี และเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม เมื่อห้างฯ ได้ชำระค่าบริการให้แก่บริษัทฯ แล้ว ห้างฯ มีสิทธินำภาษีซื้อจากการก่อสร้างสถานีบริการน้ำมันดังกล่าวไปหักจากภาษีขายในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มได้ ตามมาตรา 82/3 แห่งประมวลรัษฎากร
(2) กรณีเงินชดเชยที่บริษัทฯ ออกใบกำกับภาษีเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากห้างฯ ตาม(1) หากปรากฏข้อเท็จจริงว่า ห้างฯ ไม่ได้ชำระค่าบริการดังกล่าวให้แก่บริษัทฯ ห้างฯ ไม่มีสิทธินำภาษีซื้อจากการก่อสร้างสถานีบริการน้ำมันดังกล่าวไปหักจากภาษีขายในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มได้

เลขตู้: 61/27117

ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการแถมสินค้าเพื่อส่งเสริมการขาย - ของแถม เช่น น้ำดื่มบรรจุขวด

เลขที่หนังสือ : กค 0702/3367


วันที่ : 14 พฤษภาคม 2553


เรื่อง : ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการแถมสินค้าเพื่อส่งเสริมการขาย


ข้อกฎหมาย : มาตรา 77/1(8) และมาตรา 79(4) แห่งประมวลรัษฎากร

ข้อหารือ บริษัทฯเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ประกอบ กิจการสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง การจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงให้แก่ลูกค้า บริษัทฯ ได้จัดให้มีน้ำดื่มซึ่งระบุข้อความที่ขวดน้ำดื่มว่า สินค้า แถมห้ามจำหน่าย เป็นของแถมให้แก่ลูกค้า บริษัทฯ จึงขอ ทราบว่า บริษัทฯ ต้องนำมูลค่าน้ำดื่มดังกล่าว มารวมคำนวณเป็นมูลค่าของฐาน ภาษีเพื่อเสียภาษีมูลค่าเพิ่มหรือไม่อย่างไร


แนววินิจฉัย กรณีบริษัทฯ เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มขาย สินค้าหรือให้บริการ โดยมีการแถมสินค้าพร้อมกับการขายสินค้าหรือให้บริการไม่ว่าสินค้าที่แถมนั้น จะเป็นสินค้าประเภทและชนิดเดียว กับสินค้าหรือบริการที่ขายหรือไม่ หากมูลค่าของสินค้าที่แถมไม่เกินมูลค่าของสินค้าที่ขายหรือมูลค่าของการให้บริการ มูลค่าของสินค้าที่ แถมไม่ต้องนำมารวมคำนวณเป็นมูลค่าของฐานภาษี แต่อย่างใด ตามมาตรา 79 แห่งประมวลรัษฎากร และประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 40)ฯ ลงวันที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2535
เลขตู้ : 73/37284

ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีออกใบเสร็จน้ำมัน ในการขายเชื่อ ภายในวันเดียวกัน / ยอดไม่เกิน 1,000

เลขที่หนังสือ: กค 0811/พ.15567

วันที่: 9 พฤศจิกายน 2541

เรื่อง: ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการออกใบกำกับภาษีของสถานบริการน้ำมัน

ข้อกฎหมาย: 86/8, มาตรา87/3, ประกาศอธิบดีฯ ภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 54) พ.ศ. 2537

ข้อหารือ: บริษัท ก. จำกัด ประกอบธุรกิจสถานบริการน้ำมัน ปตท. ลูกค้าผู้ใช้บริการมีทั้งที่จ่ายเป็นเงินสดและเงินเชื่อ บริษัทฯ ได้จัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มรวมอยู่ในราคาขายตามมิเตอร์หัวจ่าย

บริษัทฯ มีปัญหาเกี่ยวกับการออกใบกำกับภาษีในการขายเงินเชื่อ กล่าวคือ เมื่อลูกค้าเติมน้ำมันแต่ละครั้ง บริษัทฯจะเก็บหลักฐานการเติมน้ำมันไว้ทุก 15 วัน จะรวบรวมหลักฐานการเติมน้ำมันหลาย ๆ ใบเพื่อทำใบวางบิล ใบเสร็จ และใบกำกับภาษีหนึ่งใบ ซึ่งเป็นยอดรวมของการเติมน้ำมัน

ลูกค้าบางรายไม่ยอมรับโดยต้องการให้บริษัทฯ ออกใบกำกับภาษีทุกครั้งที่เติมน้ำมัน แต่ลูกค้าบางรายยอมรับใบกำกับภาษีที่เป็นยอดรวมเพียงใบเดียว

การออกใบกำกับภาษีในแต่ละครั้งที่มีการเติมน้ำมันในกรณีขายเงินเชื่อจะเป็นภาระแก่บริษัทฯ และเสียค่าใช้จ่ายสูงขั้นตอนการปฏิบัติเกี่ยวกับการออกใบกำกับภาษีจากการขายน้ำมันของสถานบริการ

บริษัทฯได้ดำเนินการ 2 วิธี ดังนี้

วิธีที่ 1
1. เมื่อพนักงานขับรถของลูกค้าเงินเชื่อนำใบเติมน้ำมันมายื่นเติมน้ำมัน พนักงานจะเก็บใบเติมน้ำมันไว้เป็นหลักฐาน 1 ใบ

2. เมื่อครบ 15 วัน สถานบริการจะนำใบเติมน้ำมันแต่ละใบมาออกใบเสร็จรับเงิน/ใบกำกับภาษี (ใบเติมน้ำมัน 1 ใบ ต่อใบเสร็จรับเงิน/ใบกำกับภาษี 1 ใบ) โดยจะเว้นวันที่และชื่อผู้รับเงิน จนกว่าลูกค้าจะชำระเงิน จึงจะลงวันที่ และลงลายมือชื่อผู้รับเงิน ส่วนการขายเป็นเงินสด จะไม่มีเอกสารใด เว้นแต่ลูกค้าต้องการบิลเงินสด


วิธีที่ 2
1. เช่นเดียวกับวิธีที่ 1 ข้อ 1
2. เมื่อครบ 15 วัน สถานบริการจะนำใบเติมน้ำมันของลูกค้ามารวมยอดแต่ละชนิดของผลิตภัณฑ์แล้วกรอกลงในใบเสร็จรับเงิน/ใบกำกับภาษี โดยเว้นวันที่และชื่อผู้รับเงินไว้กรอกเมื่อได้รับชำระเงิน
3. จัดทำใบรับบิล ซึ่งจะมียอดรวมของใบเติมน้ำมัน พร้อมจำนวนเงินรวมและใบอื่นให้ลูกค้ารอนัดชำระเงิน

จึงขอทราบ วิธีปฏิบัติที่ถูกต้องในการออกใบกำกับภาษีเมื่อมีการขายน้ำมัน

แนววินิจฉัย: เนื่องจากสถานบริการน้ำมันของบริษัทฯ ได้รับอนุมัติให้เป็นกิจการขายสินค้าหรือให้บริการรายย่อย ให้บริษัทฯ ปฏิบัติในการออกใบกำกับภาษี ดังนี้

1. บริษัทฯ ไม่จำต้องออกใบกำกับภาษี ไม่ว่าจะเป็นใบกำกับภาษีแบบเต็มรูป ตามมาตรา86/4 แห่งประมวลรัษฎากร หรือใบกำกับภาษีอย่างย่อตามมาตรา 86/6 แห่งประมวลรัษฎากร สำหรับการขายน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีมูลค่าครั้งหนึ่งไม่เกิน 1,000 บาท เว้นแต่ผู้ซื้อสินค้าจะเรียกร้องให้ออกใบกำกับภาษี

ผู้ประกอบการจดทะเบียนต้องจัดทำใบกำกับภาษีตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากร ทุกครั้งที่ผู้ซื้อสินค้าเรียกร้อง พร้อมทั้งส่งมอบใบกำกับภาษีดังกล่าวให้แก่ผู้ซื้อสินค้า ทั้งนี้ตามมาตรา 86/8 แห่งประมวลรัษฎากร และตามข้อ 2 แห่งประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 54)ฯ ลงวันที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2537 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย
ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 60)ฯ ลงวันที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2538

2. กรณีบริษัทฯ ขายน้ำมันเชื้อเพลิงมีมูลค่าครั้งหนึ่งเกิน 1,000 บาท บริษัทฯ มีหน้าที่ต้องจัดทำใบกำกับภาษีอย่างย่อตามมาตรา 86/6 แห่งประมวลรัษฎากร เว้นแต่ผู้ซื้อสินค้าจะเรียกร้องใบกำกับภาษีแบบเต็มรูป


บริษัทฯ ต้องจัดทำใบกำกับภาษีตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากร ให้แก่ผู้ซื้อสินค้าที่เรียกร้องนั้นพร้อมทั้งต้องจัดทำสำเนาใบกำกับภาษีทุกครั้งด้วย

โดยผู้ประกอบการจดทะเบียนต้องจัดทำใบกำกับภาษีดังกล่าวในทันทีที่ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้น พร้อมทั้งต้องส่งมอบใบกำกับภาษีนั้นแก่ผู้ซื้อสินค้าส่วนสำเนาใบกำกับภาษีให้เก็บรักษาไว้ ตามมาตรา 87/3 ทั้งนี้ ตามมาตรา86 แห่งประมวลรัษฎากร

อย่างไรก็ดี กรณีบริษัทฯ ขายน้ำมันเชื้อเพลิงให้แก่ผู้ซื้อรายเดียวหลายครั้งในหนึ่งวันทำการเพื่อความสะดวกให้บริษัทฯ ออกใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปรวมเพียงครั้งเดียว สำหรับการขายน้ำมันเชื้อเพลิงให้แก่ผู้ซื้อดังกล่าวในหนึ่งวันทำการก็ได้

เลขตู้: 61/27243

ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการออกใบกำกับภาษีของผู้ประกอบกิจการสถานีบริการจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิง

เลขที่หนังสือ: กค 0811(กม)/พ.1225

วันที่: 26 มิถุนายน 2541

เรื่อง: ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการออกใบกำกับภาษีของผู้ประกอบกิจการสถานีบริการจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิง

ข้อกฎหมาย: มาตรา 86, มาตรา 86/8, ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 54)

ข้อหารือ

: ผู้ประกอบกิจการสถานีบริการจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงและเจ้าหน้าที่ของหน่วยปฏิบัติ มีความสับสนเกี่ยวกับการออกใบกำกับภาษีของผู้ประกอบกิจการสถานีบริการจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงที่ได้รับอนุมัติให้เป็นผู้ประกอบการขายสินค้าหรือให้บริการรายย่อยแก่บุคคลจำนวนมากว่า จะต้องมีการออกใบกำกับภาษีอย่างย่อทุกครั้งที่มีการให้บริการหรือไม่

แนววินิจฉัย

: 1. กรณีสถานบริการน้ำมันของผู้ประกอบการจดทะเบียน ได้รับอนุมัติให้เป็นกิจการขายสินค้าหรือให้บริการรายย่อย ผู้ประกอบการจดทะเบียนนั้นไม่จำต้องออกใบกำกับภาษี ไม่ว่าจะเป็นใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากร หรือใบกำกับภาษีอย่างย่อ ตามมาตรา86/6 แห่งประมวลรัษฎากรสำหรับการขายสินค้าหรือให้บริการที่มีมูลค่าครั้งหนึ่ง ไม่เกิน 1,000 บาท

เว้นแต่ผู้ซื้อสินค้าจะเรียกร้องให้ออกใบกำกับภาษี

ผู้ประกอบการจดทะเบียนต้องจัดทำใบกำกับภาษี ตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากรทุกครั้งที่ผู้ซื้อสินค้าเรียกร้อง พร้อมทั้งส่งมอบใบกำกับภาษีดังกล่าวให้แก่ผู้ซื้อสินค้า ทั้งนี้ ตามมาตรา 86/8 แห่งประมวลรัษฎากร และตาม ข้อ 2 แห่งประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 54)ฯ ลงวันที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2537ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม(ฉบับที่ 60) ฯ ลงวันที่ 27กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2538


2. กรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนขายน้ำมันเชื้อเพลิงมีมูลค่าครั้งหนึ่งเกิน 1,000 บาทผู้ประกอบการจดทะเบียนมีหน้าที่ต้องจัดทำใบกำกับภาษีอย่างย่อ ตามมาตรา 86/6 แห่งประมวลรัษฎากร

เว้นแต่ผู้ซื้อสินค้าจะเรียกร้องใบกำกับภาษีอย่างเต็มรูป ผู้ประกอบการจดทะเบียนต้องจัดทำใบกำกับภาษีตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากร ให้แก่ผู้ซื้อสินค้าที่เรียกร้องนั้น
พร้อมทั้งต้องจัดทำสำเนาใบกำกับภาษีทุกครั้งด้วย

โดยผู้ประกอบการจดทะเบียนต้องจัดทำใบกำกับภาษีดังกล่าวในทันทีที่ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้นไม่ว่าผู้ซื้อสินค้าจะเรียกร้องหรือไม่ก็ตามและต้องส่งมอบใบกำกับภาษีนั้นแก่ผู้ซื้อสินค้า ส่วนสำเนาใบกำกับภาษีให้เก็บรักษาไว้ ทั้งนี้ ตามมาตรา 86 แห่งประมวลรัษฎากร

เลขตู้: 61/26839

 

ภาษีมูลค่าเพิ่ม กิจการปั๊มน้ำมัน พร้อมให้เช่าพื้นที่

Krittapak Hua Pipatsatayanuvong (11 สิงหาคม พ.ศ. 2561 เวลา 16:20 น.)
เรียนถาม อาจารย์ค่ะ
ที่บ้านทำปั๊มน้ำมันเป็นนิติบุคคลเป็นบริษัท และจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยจด VAT เป็นประเภทสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง และขายอาหารและเครื่องดื่ม (มีร้านกาแฟเบเกอรี่)
ต่อมาได้สร้างอาคารให้เช่าอยู่ในบริเวณเดียวกับปั๊ม โดยมีทั้งส่วนที่เป็นห้องพักรายเดือน และห้องเช่าเพื่อทำการค้า และซุ้มขายของขนาดเล็ก
รบกวนสอบถามดังนี้ค่ะ


1. ถ้าเปิดอาคารดังกล่าวให้เช่าตามรายละเอียดข้างต้น ดิฉันจำเป็นจะต้องแจ้งเพิ่มประเภทกิจการใน ภพ.09 หรือไม่คะ


2. ช่วงที่ผ่านมาได้เปิดให้เช่าซุ้ม แต่ทางบริษัทออกเป็นใบเสร็จรับเงินแต่ไม่ได้ออกเป็นใบกำกับภาษี จะมีปัญหาในภายหลังหรือไม่คะ
รายละเอียดใบเสร็จมีค่าเช่าและค่าส่วนกลาง มูลค่ารวมไม่เกิน 3500 บาท/เดือน โดยผู้เช่าเป็นบุคคลธรรมดา จึงไม่ได้ออกหนังสือหักภาษี ณ ที่จ่ายให้บริษัท แต่ทางบริษัทนำรายได้ส่วนนี้ลงเป็นรายได้ยกเว้นVATในแบบภพ.30 แบบนี้ถูกต้องหรือไม่คะ


3. ดิฉันได้ข้อมูลจากเจ้าหน้าที่สรรพากรบางคนว่า การให้เช่าอสังหาริมทรัพย์เป็นกิจการที่ไม่อยู่ในบังคับภาษีมูลค่าเพิ่ม ดังนั้นไม่จำเป็นต้องไปจดเพิ่มกิจการแต่เจ้าหน้าที่บางส่วนแจ้งว่าถ้ามีการเก็บค่าใช้จ่ายอื่นๆ นอกจากค่าเช่า เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟ ก็ต้องจด VATเพิ่มกิจการ เพราะมีบิลค่าน้ำ ค่าไฟของห้องเช่าที่เรานำไปยื่น VAT ซื้อ (แต่ที่บริษัท ค่าน้ำ ค่าไฟที่ห้องเช่าใช้เป็นบิลรวมกับของปั๊มนะคะ)แต่ถ้าเราเก็บค่าเช่าอย่างเดียวก็ไม่จำเป็นต้องไปจดVATเพิ่ม
รบกวนอาจารย์ไขข้อข้องใจให้ด้วยนะคะ


ขอบพระคุณมากค่ะ

 

แนวตอบ

 

วิสัชนา:


กรณีบริษัทฯ ประกอบกิจการสถานีบริการน้ำมัน (ขายสินค้าน้ำมันปิโตรเลียม) เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียน ประเภทสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง และขายอาหารและเครื่องดื่ม (มีร้านกาแฟเบเกอรี่)


ต่อมาได้สร้างอาคารให้เช่าอยู่ในบริเวณเดียวกับปั๊ม โดยมีทั้งส่วนที่เป็นห้องพักรายเดือน และห้องเช่าเพื่อทำการค้า และซุ้มขายของขนาดเล็ก นั้น


1. ถ้าเปิดอาคารดังกล่าวให้เช่าตามรายละเอียดข้างต้น บริษัทฯ ไม่ต้องแจ้งเพิ่มประเภทกิจการใน ภพ.09


2. ช่วงที่ผ่านมาได้เปิดให้เช่าซุ้ม โดยบริษัทฯ ออกเป็นใบเสร็จรับเงินแต่ไม่ได้ออกเป็นใบกำกับภาษี นั้น หากเป็นการเช่าอสังหาริมทรัพย์ มีการส่งมอบการครอบครอง โดยรายละเอียดในใบเสร็จมีค่าเช่าและค่าส่วนกลาง มูลค่ารวมไม่เกิน 3,500 บาท/เดือน โดยผู้เช่าเป็นบุคคลธรรมดา จึงไม่ได้ออกหนังสือหักภาษี ณ ที่จ่ายให้บริษัทฯ และบริษัทฯ นำรายได้ส่วนนี้ลงเป็นรายได้ยกเว้นVAT ในแบบ ภ.พ.30 แก็เป็นการปฏิบัติที่ถูกต้องแล้ว แต่ถ้าเป็นการให้บริการใช้พื้นที่ โดยไม่มีการส่งมอบการครอบครองพื้นที่ เข้าลักษณะเป็นการให้บริการที่อยู่ในบังคับที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่่ม และบริษัทฯ มีหน้าที่ต้องออกใบกำกับภาษี ซึ่งอาจเป็นปัญหาในภายหลังได้ จึงต้องพิจารณาข้อเท็จจริงให้ละเอียดรอบคอบ


3. ตามที่ได้ข้อมูลจากเจ้าหน้าที่สรรพากรบางคนว่า การให้เช่าอสังหาริมทรัพย์เป็นกิจการที่ไม่อยู่ในบังคับภาษีมูลค่าเพิ่ม ดังนั้นไม่จำเป็นต้องไปจดเพิ่มกิจการ และ่ถ้าบริษัทฯ เก็บค่าเช่าอย่างเดียวก็ไม่จำเป็นต้องไปจดVATเพิ่ม เป็นข้อมูลที่ถูกต้องแล้ว แต่บริษัทฯ อาจต้องมีปัญหาเกี่ยวกับการเฉลี่ยภาษีซื้อ สำหรับค่าใช้จ่ายส่วนกลางที่ใช้ร่วมกันทั้งกิจการ VAT และ Non VAT สำหรับรายได้ ค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้า นั้น บริษัทฯ จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ประเภทขายสินค้าแล้ว หากมีจำนวนไม่มากก็ไมจำเป็นต้องแจ้งเพิ่มกิจการแต่อย่างใด

Related Articles | บทความที่คุณอาจสนใจ

บริษัท บี.อี. แอคเคาน์ติ้ง เซอร์วิสเซส จำกัด
สำนักงานบัญชี BEE - Accountant
พร้อมให้บริการรับทำบัญชีรายเดือน รับทำรายปี
จัดทำภาษี รายเดือน จัดทำภาษีรายปี และตรวจสอบบัญชี
สำหรับกิจการนิติบุคคล หรือบุคคลธรรมดาทุประเภทกิจการเช่น

กิจการซื้อมาขายไป

กิจการบริการ

กิจการผลิต

Bee-Accountant service

Our mission

Bee Accountant ยึดมั่นในความถูกต้อง โปร่งใส ตรงเวลา งานได้คุณภาพ ตรวจสอบได้จากทุกหน่วยงาน เช่นกรมสรรพากร กรมพัฒนาธุรกิจการค้า  คปภ และหน่วยงานอื่นๆ

Contact us

Post Views: 17,802

BeE Accountant

we'd love to have your feedback on your experience so far

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

บันทึกการตั้งค่า