Skip to content

ใบกำกับภาษีอย่างย่อ บันทึกบัญชี
ยื่นภาษีอย่างไรให้สรรพากรยอมรับ

ใบกำกับภาษีอย่างย่อ บันทึกบัญชี
ยื่นภาษีอย่างไรให้สรรพากรยอมรับ

ใบกำกับภาษีอย่างย่อ เป็น เอกสารสำคัญในอีกรูปแบบหนึ่งสำหรับกิจการที่มีการขายหรือให้บริการกับคนจำนวนมาก (ขายปลีก) เช่น ร้านค้า โรงแรม ร้านอาหาร ซึ่งหากธุรกิจเป็นแบบนี้ คุณสามารถออก ใบกำกับภาษีอย่างย่อ ได้โดยที่ไม่ต้องขออนุมัติจาก กรมสรรพากร  แต่สำหรับคนที่ไม่ใช่กิจการเช่นนี้ การจัดทำ ใบกำกับภาษีอย่างย่อ ควรขออนุมัติ การใช้งานกับทางกรมสรรพากร เพื่อใช้เครื่องบันทึกการเก็บเงิน(POS) ในการออก ใบกำกับภาษีอย่างย่อ เพื่อให้สะดวกกับการทำงานมากขึ้น

ทุกครั้งที่มีการขายสินค้าหรือให้บริการ ผู้ขายมีหน้าที่ต้องออก ใบกำกับภาษีอย่างย่อ ให้แก่ผู้ซื้อสินค้าหรือบริการ โดยต้องมีข้อความตามที่กฎหมายกำหนด และยังต้องเปลี่ยนเป็นใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปทันทีที่ได้รับการร้องขอจากผู้ซื้อสินค้าและรับบริการอีกด้วย

เพื่อความชัดเจน และ ไม่โต้แย้งกับหน่วยงานใดๆ  ในการออก ใบกำกับภาษีอย่างย่อ กิจการที่จะประกอบการค้าปลีก ควรต้องมีการระบุในวัตถุประสงค์ของบริษัท พร้อมแจ้งกรมพัฒนาธุรกิจการค้า (วัตถุประสงค์ของบริษัท) และ แจ้งทางกรมสรรพากร (ตามแบบแจ้งการเป็นผู้ประกอบการในระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม)

ใบกำกับภาษีอย่างย่อ
กิจการขายปลีก การออกใบกำกับภาษีอย่างย่อ
เลือกอ่านหัวข้อที่สนใจ

1.    กิจการที่มีสิทธิออก ใบกำกับภาษีอย่างย่อ – ประเภท / ต้องออกใบกำกับอย่างย่อทุกครั้ง

2.    กิจการที่มีสิทธิออก ใบกำกับภาษีอย่างย่อ – ประเภท / ไม่ต้องออกใบกำกับถ้าขายต่ำกว่า 1,000 บาท

3.    การออกใบกำกับภาษีให้แก่ผู้ซื้อสินค้ารายหนึ่งรายใดเป็นจำนวนหลายครั้งใน 1 วัน

4.    รายงานภาษีขาย จากใบกำกับภาษีอย่างย่อในแต่ละวัน

5.    ขออนุมัติยื่นแบบแสดงรายการภาษีและชำระภาษีรวมกัน (ภ.พ.30)

6.    คำถาม – การออกใบกำกับภาษีอย่างย่อ ต้องขออนุมัติกรมสรรพากร ?

7.    เครื่องบันทึกการเก็บเงิน ต้องขออนุมัติ? + สรุปเงื่อนไขว่าต้องขออนุมัติหรือไม่

8.    ลักษณะความแตกต่างของใบกำกับภาษีอย่างย่อและใบกำกับภาษีเต็มรูป

9.    ประโยชน์ของกิจการ – ใบกำกับภาษีอย่างย่อ  / ผู้ซื้อไม่ให้ข้อมูลเพื่ออกใบกำกับภาษีเต็มรูป

10.  ตัวอย่างใบกำกับภาษีอย่างย่อ และใบกำกับภาษีเต็มรูป ปี 2561

11.  ข้อหารือ/คำถามเกี่ยวกับใบกำกับภาษีอย่างย่อ

กิจการที่มีสิทธิออกใบกำกับภาษีอย่างย่อ

ใบกำกับภาษีอย่างย่อ กิจการที่มีสิทธิออก  คือ กิจการทุกประเภทที่เข้าเงื่อนไขการขายปลีกดังนี้  กิจการซื้อมาขายไป กิจการบริการ ประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 32)     และ ฉบับที่ 154

          เงื่อนไขการขาย/บริการปลีก คือ  การประกอบกิจการขายสินค้าในลักษณะขายปลีกหรือการให้บริการในลักษณะบริการรายย่อยแก่บุคคลจำนวนมาก

           กิจการค้าปลีกต้องมีลักษณะหรือเงื่อนไขดังต่อไปนี้
           – การขายปลีก เป็นการขายสินค้าที่ผู้ขายทราบโดยชัดแจ้งว่าเป็นการขายให้แก่ผู้บริโภคโดยตรงและได้ขายในปริมาณซึ่งตามปกติวิสัยของผู้บริโภคนั้นจะนำสินค้าไปบริโภคหรือใช้สอยโดยมิได้มีวัตถุประสงค์ที่จะนำไปขายต่อไป เช่น การขายสินค้าของกิจการแผงลอยกิจการขายของชำ กิจการขายยา กิจการจำหน่ายน้ำมัน และกิจการห้างสรรพสินค้า ทั้งนี้ เฉพาะในการขายสินค้าที่เป็นไปตามลักษณะและหรือเงื่อนไขดังกล่าวข้างต้น

          กิจการบริการปลีกต้องมีลักษณะหรือเงื่อนไขดังต่อไปนี้
         – การให้บริการในลักษณะบริการรายย่อยแก่บุคคลจำนวนมาก เช่น การให้บริการของกิจการภัตตาคาร กิจการโรงแรม กิจการซ่อมแซมทุกชนิด กิจการโรงภาพยนต์ และกิจการสถานบริการน้ำมัน เป็นต้น กิจการภัตตาคารได้แก่กิจการขายอาหารหรือเครื่องดื่มไม่ว่าชนิดใด ๆ รวมทั้งกิจการรับจ้างปรุงอาหารหรือเครื่องดื่ม ทั้งนี้ ไม่ว่าในหรือนอกสถานที่ซึ่งจัดไว้ให้ประชาชนเข้าไปบริโภคได้

การออกใบกำกับภาษีสำหรับกิจการค้าปลีก / บริการรายย่อยตามประกาศฉบับ 32

กิจการที่มีลักษณะตามข้างต้น สามารถออกใบกำกับภาษีอย่างย่อได้ บริษัทฯ ย่อมมีสิทธิออกใบกำกับภาษีอย่างย่อได้ตลอดไป ไม่ว่าบริษัทฯ จะมีขายได้ยอดเป็นจำนวนเท่าใดก็ตาม แต่ต้องเป็นการขายให้ผู้ซื้อรายย่อยที่นำไปใช้เอง  – และไม่ต้องขออนุญาตกรมสรรพการ   และ  ละต้องออกใบกำกับภาษีอย่างย่อให้ผู้ซื้อ สินค้าหรือบริการทุกครั้ง หรือ ใบกำกับภาษีเต็มรูป

สำหรับกิจการที่ขายแบบ B2B แต่มีบางครั้งมีการขายปลีกให้ผู้ถือรายย่อยที่ทราบแน่ว่าซื้อไปใช้สอยเอง มิได้นำไปขายต่อ กิจการสามารถออกใบกำกับภาษีอย่างย่อได้ (ตามข้อหารือด้านล่างหน้านี้)

(ไม่สับสบกับ รายได้ 300,000 ต่อเดือน ตามข้อมูลด้านล่าง)

        

         

ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 154) ซึ่งอธิบดีกรมสรรพากรอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 86/8 แห่งประมวลรัษฎากร กำหนดลักษณะ และเงื่อนไขของ

การประกอบกิจการขายสินค้าหรือให้บริการรายย่อย และการออกใบกำกับภาษีของผู้ประกอบการจดทะเบียน

การประกอบกิจการดังต่อไปนี้เป็นการขายสินค้าหรือให้บริการรายย่อย

 

             1.  การขายสินค้าหรือให้บริการซึ่งผู้ประกอบการจดทะเบียนไม่เคยมีมูลค่าของฐานภาษีในเดือนใดถึง 300,000 บาท

           (2)  การขายสินค้าหรือให้บริการซึ่งผู้ประกอบการจดทะเบียนมีสถานประกอบการแต่ละแห่งเป็นรถเข็น แผงลอย หรือหน่วยขายที่มีลักษณะทำนองเดียวกัน

           (3)  การให้บริการการแสดง การเล่น การกีฬา การแข่งขัน การประกวด หรือการกระทำใดๆ ในลักษณะทำนองเดียวกันที่จัดขึ้นเพื่อเก็บเงินจากผู้ดู ผู้ฟัง ผู้เล่น หรือผู้เข้า แข่งขัน

           (4)  การประกอบกิจการให้บริการโทรศัพท์สาธารณะ

           (5)  การประกอบกิจการให้บริการทางพิเศษหรือทางหลวงสัมปทาน

           (6)  การประกอบกิจการให้บริการสนามบิน

           (7) การประกอบกิจการให้บริการสาธารณะที่เกี่ยวเนื่องกับกิจการขนส่งมวลชน เช่น การให้บริการสถานที่จอดรถหรือให้บริการห้องสุขาแก่ประชาชนผู้มาใช้บริการรถไฟฟ้า คำว่า “กิจการขนส่งมวลชน” หมายความว่า การให้บริการรับขนส่งสาธารณชนผู้ใช้ระบบขนส่งมวลชน”

สำหรับกิจการตามเงื่อนไขนี้ กรมสรรพากรอนุญาตเพิ่มเติมดังนี้

การออกใบกำกับภาษีสำหรับกิจการค้าปลีก / บริการรายย่อยตามประกาศฉบับ 154

ถ้าไม่เคยมีเดือนไหนขาย VAT เกินกว่า 300,000   – 
ไม่จำต้องออกใบกำกับภาษีสำหรับการขายสินค้าหรือการให้บริการ
ที่มีมูลค่าครั้งหนึ่งไม่เกิน 1,000 บาท (ถ้าเกินต้องออกให้ผู้ซื้อนะคะ)

เว้นแต่ผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการจะเรียกร้องใบกำกับภาษี 


 

         เพิ่มเติมกรณีกิจการบริการน้ำมัน (ปั๊มน้ำมัน)

ไม่ต้องออกใบกำกับภาษีเมื่อขายน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีมูลค่าครั้งหนึ่งไม่เกิน 1,000 บาท กรณีปั๊มน้ำมันเป็นสถานบริการน้ำมันเชื้อเพลิงที่ได้รับอนุมัติเป็นการขายสินค้าหรือให้บริการรายย่อยแก่บุคคลจำนวนมาก

การออกใบกำกับภาษีให้แก่ผู้ซื้อสินค้ารายหนึ่งรายใดเป็นจำนวนหลายครั้งใน 1 วัน

ผู้ประกอบการค้าปลีก บริการปลีก หรือ ขายสินค้าให้บริการรายย่อยสามารถออกใบกำกับภาษีรวมเพียงครั้งเดียวใน 1 วันทำการได้

รายงานภาษีขาย จากใบกำกับภาษีอย่างย่อในแต่ละวัน

โดยให้ลงรายการในรายงานภาษีขายเฉพาะมูลค่าสินค้าหรือบริการและจำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มทั้งหมดต่อวัน
ที่ได้รับหรือพึงได้รับซึ่งเกิดจากใบกำกับภาษีดังกล่าว

การลงรายงานขายไม่ต้องระบุชื่อผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการ และรายการสินค้าหรือบริการ

ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 89) ข้อ 7

 (2) กรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนมีสิทธิออกใบกำกับภาษีอย่างย่อตามมาตรา 86/6 มาตรา 86/7 แห่งประมวลรัษฎากร และใบกำกับภาษีตามมาตรา 86/5 แห่งประมวลรัษฎากรที่ไม่มีลักษณะเป็นใบกำกับภาษีแบบเต็มรูป ทุกครั้งที่ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้น ให้ลงรายการเฉพาะมูลค่าสินค้าหรือบริการและจำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มทั้งหมดต่อวันที่ได้รับหรือพึงได้รับ ซึ่งเกิดจากใบกำกับภาษีอย่างย่อตามมาตรา 86/6 มาตรา 86/7 แห่งประมวลรัษฎากร และใบกำกับภาษีตามมาตรา 86/5 แห่งประมวลรัษฎากรที่ไม่มีลักษณะเป็นใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปนั้น และให้ลงรายการภายในสามวันทำการนับแต่วันที่ระบุไว้ในใบกำกับภาษีอย่างย่อหรือใบกำกับภาษีตามมาตรา 86/5 แห่งประมวลรัษฎากร โดยจะต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขดังต่อไปนี้

                                 (ก) ไม่ต้องระบุชื่อผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการและรายการสินค้าหรือบริการ และต้องแยกจำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มออกจากมูลค่าสินค้าหรือบริการ โดยจำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มต้องสัมพันธ์กับมูลค่าสินค้าหรือบริการ

                                 (ข) กรณีจัดทำใบกำกับภาษีอย่างย่อเป็นเล่ม ให้ลงรายการมูลค่าสินค้าหรือบริการที่เป็นยอดรวมแต่ละยอดตามใบกำกับภาษีอย่างย่อ โดยระบุในช่อง เลขที่/เล่มที่ ของใบกำกับภาษี ว่า “ เล่มที่… เลขที่…ถึงเลขที่…”

                                 (ค) กรณีจัดทำใบกำกับภาษีอย่างย่อโดยไม่ได้ออกเป็นเล่ม ให้ลงรายการมูลค่าสินค้าหรือบริการที่เป็นยอดรวมแต่ละยอดตามใบกำกับภาษีอย่างย่อ โดยระบุในช่องเลขที่/เล่มที่ ของใบกำกับภาษี ว่า “ เลขที่…ถึงเลขที่…”

ขออนุมัติยื่นแบบแสดงรายการภาษีและชำระภาษีรวมกัน (ภ.พ.30)

ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม จะต้องยื่นแบบเสียภาษี (ภ.พ.30) เป็นรายสถานประกอบการ
กรณีมีสถานประกอบการหลายแห่ง

หรือ

ผู้ประกอบการสามารถขออนุมัติยื่นแบบและชำระภาษีรวมกัน ณ สำนักงานใหญ่ หรือสาขาใดสาขาหนึ่งได้

การจัดทำรายงานภาษีขาย ภาษีซื้อ รายงานสินค้าและวัตถุดิบ ให้จัดทำเป็นรายสถานประกอบการ
ไม่ว่าจะ ได้รับอนุมัติให้ยื่นแบบและชำระภาษีรวมกันหรือไม่

การออกใบกำกับภาษีอย่างย่อ ต้องขออนุมัติกรมสรรพากร?

ผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ประกอบกิจการค้าปลีก มีสิทธิออกใบกำกับภาษีอย่างย่อ

ได้แก่ ผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ประกอบกิจการขายสินค้าในลักษณะขายปลีก หรือให้บริการในลักษณะบริการรายย่อยแก่บุคคลจำนวนมาก
โดยไม่ต้องขออนุม้ติจากกรมสรรพากร
 
— ผู้ประกอบการค้า หรือ บริการปลีกแต่ลูกค้าจำนวนมาก สามารถออกใบกำกับภาษีอย่างย่อได้ทันที แต่ในความเป็นจริงกิจการมักจะไม่มั่นใจ และไม่แน่ใจว่ากิจการตนเองอยู่ในความหมายของการขายหรือให้บริการรายย่อยหรือไม่–
(โปรดศึกษาข้อหารือด้านล่าง)

การใช้เครื่องบันทึกการเก็บเงินเพื่อ
ออกใบกำกับภาษีอย่างย่อ

ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 46) เรื่อง    กำหนดหลักเกณฑ์การขออนุมัติใช้เครื่องบันทึกการเก็บเงินเพื่อออกใบกำกับภาษีอย่างย่อ และหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการใช้เครื่องบันทึกการเก็บเงินตามมาตรา 86/6 แห่งประมวลรัษฎากร

ผู้ประกอบการจดทะเบียนซึ่งประสงค์จะใช้เครื่องบันทึกการเก็บเงินเพื่อออกใบกำกับภาษีอย่างย่อจะต้องยื่นคำขออนุมัติใช้เครื่องบันทึกการเก็บเงินเพื่อออกใบกำกับภาษีอย่างย่อต่ออธิบดีกรมสรรพากรผ่านสรรพากรพื้นที่ในเขตท้องที่ที่สถานประกอบการตั้งอยู่

การใช้เครื่องบันทึกการเก็บเงินเพื่อออกใบกำกับภาษีอย่างย่อ  เป็นความสะดวกของผู้ประกอบการฯ  ที่ไม่ต้องมีภาระในการเขียน  หรือพิมพ์ใบกำกับภาษี  โดยเฉพาะกิจการค้าปลีกซึ่งขายสินค้าหรือให้บริการแก่บุคคลจำนวนมาก และยังง่ายต่อการควบคุมตรวจสอบของเจ้าหน้าที่ด้วย

ขั้นตอนการขอหมายเลขเครื่องบันทึกการขายกับกรมสรรพากร เพื่อออกใบเสร็จรับเงินอย่างย่อ

เอกสารแนบ (1) แบบคำขออนุมัติใช้เครื่องบันทึกการเก็บเงินเพื่อออกใบกำกับภาษีตามประมวลรัษฎากร (ภ.พ.06)

เอกสารแนบ (2) หนังสืออนุมัติใช้เครื่องบันทึกการเก็บเงินตามข้อ 9 (ตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 46) ลงวันที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2536)

เอกสารแนบ (3) แบบแจ้งการเปลี่ยนแปลงการใช้เครื่องบันทึกการเก็บเงินที่เคยได้รับอนุมัติ (ภ.พ.06.1)

สรุป ใบกำกับภาษีอย่างย่อ /
ขายแต่ไม่ต้องส่งใบกำกับภาษีอย่างย่อ / เครื่องเก็บเงิน

ถ้าเข้าเงื่อนไข ประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 32) –  ออกใบกำกับภาษีอย่างย่อได้   +  ไม่ต้องขออนุญาติ

ถ้าเข้าเงื่อนไข ประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่มฉบับที่ 154) –  ออกใบกำกับภาษีอย่างย่อได้   +  ไม่ต้องขออนุญาติ + ถ้าขายต่ำ 1,000 ไม่ต้องออกใบกำกับภาษีก็ได้

เครื่องบันทึกเก็บเงิน – ต้องขออนุมัติจากกรมสรรพากรทุกครั้ง

ใบกำกับภาษีอย่างย่อ – ถ้าไม่ได้ใช้เครื่องเก็บเงินสด สามารถพิมพ์จาก excel  ใบแบบฟอร์มใบเสร็จรับเงินได้

ลักษณะที่แตกต่างของ
ใบกำกับภาษีอย่างย่อ เมื่อเทียบกับ ใบกำกับภาษีเต็มรูปแบบ

ใบกำกับภาษีแบบเต็มรูป

ใบกำกับภาษีอย่างย่อ

ใบกำกับภาษีอย่างย่อ – ประโยชน์ของกิจการผู้จัดทำ

 

การออกใบกำกับภาษีอย่างย่อ กฎหมายไม่ได้เคร่งครัดเท่ากับการออกใบกำกับภาษีเต็มรูป เนื่องจากไม่สามารถนำภาษีมูลค่าเพิ่มมาใช้เครดิตภาษีขายได้  หรือ เรียกได้ว่าภาษีซื้อจาก ใบกำกับภาษีอย่างย่อ เป็นภาษีซื้อต้องห้าม

ประโยชน์ของการออกใบกำกับภาษีอย่างย่อที่เห็นได้ชัดเจนคือ ไม่ต้องระบุชื่อ ที่อยู่ของผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการในใบกำกับภาษีอย่างย่อซึ่งสะดวกแก่ผู้ออก เพราะปัญหาส่วนหนึ่งของการออกใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปก็คือ ผู้ซื้อสินค้าฯ ไม่บอกชื่อที่อยู่
 

กิจการไม่จำต้องออกใบกำกับภาษี ไม่ว่าจะเป็นใบกำกับภาษีแบบเต็มรูป ตามมาตรา86/4 แห่งประมวลรัษฎากร หรือใบกำกับภาษีอย่างย่อตามมาตรา 86/6 แห่งประมวลรัษฎากร สำหรับ การขายที่มีมูลค่าครั้งหนึ่งไม่เกิน 1,000 บาท เว้นแต่ผู้ซื้อสินค้าจะเรียกร้องให้ออกใบกำกับภาษี

** เพิ่มเติมกรณีผู้ซื้อไม่ให้ ข้อมูลเพื่อออกใบกำกับภาษี ให้กิจการออกใบกำกับภาษีอย่างย่อให้แทน และ
      ในกรณีถ้ากิจการไม่เข้าเงื่อนไขให้ออกใบกำกับอย่างย่อได้ ให้กิจการติดประกาศทุกช่องทาง  เช่น หน้าร้านกิจการ  โต๊ะแคชเชียร์จ่ายเงิน ประกาศผ่านเวปไซค์ เพื่อแสดงว่ากิจการได้กระทำการอย่างเต็มความสามารถ เต็มที่เพื่อขอข้อมูลลูกค้าแล้ว แต่ไม่ได้มาซึ่งข้อมูลประกอบการจัดทำใบกำกับภาษี ถือว่าได้ทำเต็มที่แล้ว และเมื่อออกใบกำกับให้ใส่ข้อมูลที่มี และระบุว่าผู้ซื้อไม่ประสงค์จะขอรับใบกำกับภาษี #ลูกค้าไม่ให้ข้อมูลเพื่อออกใบกำกับภาษี

ใบกำกับภาษีอย่างย่อ
ที่มา กรมสรรพากร
ใบกำกับภาษีอย่างย่อ _1
ที่มา กรมสรรพากร

ข้อหารือทางภาษี - ใบกำกับภาษีอย่างย่อ

ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการจัดทำใบเสร็จรับเงิน/ใบกำกับภาษีและการจัดเก็บข้อมูลโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์

ข้อหารือ

บริษัท ก. ออกใบเสร็จรับเงิน/ใบกำกับภาษีอย่างย่อ หากผู้ใช้บริการต้องการเครดิตภาษีซื้อ จะนำต้นฉบับใบเสร็จรับเงิน/ใบกำกับภาษีอย่างย่อมาขอใบเสร็จรับเงิน/ใบกำกับภาษีแบบเต็มรูป ซึ่งบริษัท ก. ต้องจัดเก็บสำเนาใบกำกับภาษีเป็นจำนวน จึงได้นำวิธีการจัดเก็บเอกสารหลักฐานไว้ในรูปแบบของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์มาใช้ ตามคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป.121/2545ฯ ลงวันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2545 บริษัท ก. จึงขอทราบว่า

        1. เมื่อได้มีการนำระบบอิเล็กทรอนิกส์มาใช้ในการจัดเก็บเอกสารหลักฐานแล้ว บริษัท ก. จะต้องจัดเก็บสำเนาใบเสร็จรับเงิน/ใบกำกับภาษีอย่างย่อต่อไปอีกหรือไม่

        2. เมื่อผู้รับบริการนำต้นฉบับใบเสร็จรับเงิน /ใบกำกับภาษีอย่างย่อมาขอใบเสร็จรับเงิน /ใบกำกับภาษีแบบเต็มรูป บริษัท ก. จะต้องยกเลิกต้นฉบับใบเสร็จรับเงิน/ใบกำกับภาษีอย่างย่อ แล้วนำต้นฉบับใบเสร็จรับเงิน/ใบกำกับภาษีอย่างย่อที่ยกเลิกดังกล่าวมาแนบและเก็บรักษาไว้กับสำเนาใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปต่อไปอีกหรือไม่

แนววินิจฉัย

1. กรณีบริษัท ก. ได้จัดทำเอกสารหลักฐานตามประมวลรัษฎากรที่เป็นต้นฉบับในรูปแบบกระดาษและจัดเก็บสำเนาไว้ในรูปแบบของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ย่อมกระทำได้ ทั้งนี้ ตามกฎหมายว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ แต่ต้องเป็นไปตามทางปฏิบัติที่กรมสรรพากรได้ วางไว้ ตามหลักเกณฑ์ข้อ 5 และข้อ 6 ของคำสั่งกรมสรรพากรฉบับดังกล่าว

 2. กรณีผู้รับบริการได้รับใบกำกับภาษีอย่างย่อ ซึ่งมีรายการตามมาตรา 86/6 แห่งประมวลรัษฎากร ประสงค์จะได้รับใบกำกับภาษีแบบเต็มรูป ตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากร บริษัท ก. ต้องยกเลิกใบกำกับภาษีฉบับเดิมและจัดทำใบกำกับภาษีฉบับใหม่โดยนำใบกำกับภาษีฉบับเดิมมาประทับตราว่า “ยกเลิก” หรือ “ขีดฆ่า” แล้วเก็บรวบรวมไว้กับสำเนาใบกำกับภาษีฉบับเดิมและจัดทำใบกำกับภาษีฉบับใหม่ ซึ่งเป็นเลขที่ใหม่และจะต้องลงวันเดือน ปี ให้ตรงกับวัน เดือน ปี ตามใบกำกับภาษีฉบับเดิม พร้อมทั้งหมายเหตุไว้ในใบกำกับภาษีฉบับใหม่ว่า “เป็นการยกเลิกและออกใบกำกับภาษีฉบับใหม่แทนฉบับเดิมเลขที่ …เล่มที่ …” นอกจากนั้นให้บริษัท ก. หมายเหตุ การยกเลิกใบกำกับภาษีไว้ในรายงานภาษีขายของเดือนภาษีที่จัดทำใบกำกับภาษีฉบับใหม่ด้วย

ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการออกใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปแทนใบกำกับภาษีอย่างย่อ

บริษัทฯ มีหนังสือหารือสำนักงานสรรพากรจังหวัด เรื่อง การออกใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปแทน
ใบกำกับภาษีอย่างย่อ ปรากฏข้อเท็จจริง ดังนี้

1. บริษัทฯ มีนโยบายใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ออกใบกำกับภาษีแบบเต็มรูป ซึ่งเมื่อลูกค้า ต้องการเปลี่ยนจากใบกำกับภาษีอย่างย่อเป็นใบกำกับภาษีแบบเต็มรูป บริษัทฯ จะออก ใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปให้โดยใช้โปรแกรมในคอมพิวเตอร์ ขั้นตอนในการขอออกใบกำกับภาษีแบบเต็มรูป มีดังนี้

– ลูกค้านำใบกำกับภาษีอย่างย่อคืนบริษัทฯ
– พนักงานตรวจสอบว่าเป็นใบกำกับภาษีของบริษัทฯ หรือไม่ และวันที่ใน ใบกำกับภาษีเป็น วันที่ปัจจุบันหรือไม่
– พนักงานเรียกข้อมูล โดยเรียกเลขที่ตามใบกำกับภาษีอย่างย่อเดิมที่ลูกค้านำมาคืน และขอ ชื่อที่อยู่ของลูกค้า เพื่อบันทึกข้อมูลชื่อที่อยู่และพิมพ์ใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปให้ลูกค้าโดยเลขที่ ใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปจะตรงกับเลขที่ใบกำกับภาษีอย่างย่อในรายงานภาษีขายที่ออกเมื่อสิ้นวันจะมีเลขที่ ใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปที่ออกใหม่ให้ลูกค้าและในช่องหมายเหตุจะมีคำว่า “ออกแทนใบกำกับภาษีอย่างย่อ เลขที่ …”

บริษัทฯ ขอทราบว่า กรณีออกใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปมีเลขที่ตรงกับใบกำกับภาษีอย่างย่อซึ่ง ทำให้เลขที่ใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปไม่เรียงตามลำดับถูกต้องหรือไม่ อย่างไร

2. สำนักงานสรรพากรจังหวัดเห็นว่า การออกใบกำกับภาษีสำหรับการขายสินค้าหรือ ให้บริการทุกครั้ง ต้องออกให้ในทันทีที่ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้นตามมาตรา 86 แห่ง ประมวลรัษฎากร สำหรับการเปลี่ยนใบกำกับภาษีอย่างย่อเป็นใบกำกับภาษีแบบเต็มรูต้องกระทันทีใน ขณะที่ออกใบกำกับภาษีและยกเลิกใบกำกับภาษีอย่างย่อฉบับที่ออกไปแล้วโดยกลัดติดไว้ในสำเนาเครื่อง ออกใบเสร็จรับเงิน

การที่บริษัทฯ ออกใบกำกับภาษีอย่างย่อแล้วจะเปลี่ยนเป็นใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปใน ภายหลังไม่อาจทำได้ เนื่องจากจะเป็นการออกใบกำกับภาษีเมื่อพ้นกำหนดเวลาตามมาตรา 86 แห่ง
ประมวลรัษฎากร

3. สำนักงานสรรพากรภาคเห็นว่า บริษัทฯ มีสิทธิออกใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปแทน ใบกำกับภาษีอย่างย่อได้ เนื่องจากไม่มีกำหนดเวลากรณีการยกเลิกและออกใบแทนใบกำกับภาษีแต่บริษัทฯ ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไข ดังนี้

(1) บริษัทฯ ต้องเรียกใบกำกับภาษีอย่างย่อคืนและประทับตราว่ายกเลิกหรือขีดฆ่าและ เก็บรวบรวมไว้กับสำเนาเครื่องออกใบเสร็จรับเงินและให้ออกใบกำกับภาษีฉบับใหม่ให้ตรงวันเดือนปีใน ใบกำกับภาษีอย่างย่อพร้อมทั้งระบุชื่อที่อยู่ของลูกค้าและหมายเหตุในใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปว่า “เป็นการ ยกเลิกใบกำกับภาษีอย่างย่อและออกใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปแทนเลขที่….เล่มที่….”

(2) บริษัทฯ ต้องหมายเหตุการยกเลิกใบกำกับภาษีอย่างย่อไว้ในรายงานภาษีขายประจำ เดือนที่ออกใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปแทนด้วยว่า “ใบกำกับภาษีเล่มที่….เลขที่….เป็นการออกแทน ใบกำกับภาษีอย่างย่อเลขที่….วันที่……”

(3) ลูกค้าผู้รับใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปแทนใบกำกับภาษีอย่างย่อต้องส่งมอบ ใบกำกับภาษีอย่างย่อคืนให้แก่บริษัทฯ โดยจะต้องถ่ายเอกสารใบกำกับภาษีอย่างย่อแนบกับ ใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปเก็บไว้ ณ สถานประกอบการของลูกค้าด้วย

(4) การออกใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปจะต้องออกเรียงตามลำดับที่ได้ออกไปก่อนหน้าแล้ว จะนำเลขที่วันที่ในใบกำกับภาษีอย่างย่อมาออกในใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปไม่ได้

แนววินิจฉัย

กรณีบริษัทฯ ออกใบกำกับภาษีอย่างย่อตามมาตรา 86/6 แห่งประมวลรัษฎากร ให้แก่ผู้ซื้อ สินค้าหรือผู้รับบริการไปแล้ว ต่อมาผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการต้องการเปลี่ยนเป็นใบกำกับภาษีแบบเต็มรูป ตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากร นั้น

บริษัทฯ มีสิทธิยกเลิกใบกำกับภาษีอย่างย่อฉบับเดิมและ ออกใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปให้กับผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการได้เนื่องจาก ไม่มีกฎหมายใดห้าม ผู้ประกอบการจดทะเบียนยกเลิกใบกำกับภาษีอย่างย่อฉบับเดิมแล้วออกใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปแทนแต่

อย่างใด ทั้งนี้ ให้นำหลักเกณฑ์ข้อ 25 ของคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.86/2542 เรื่อง หลักเกณฑ์การ จัดทำใบกำกับภาษีตามมาตรา 86/4 และมาตรา 86/5 แห่งประมวลรัษฎากร เฉพาะที่มีลักษณะเป็นแบบ เต็มรูป ลงวันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2542 มาบังคับใช้โดยอนุโลม

ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการขายสินค้าด้วยเครื่องจำหน่ายสินค้าอัตโนมัติ

กค 0811/พ.00342

บริษัทฯ เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ประเภทผลิต ขายส่ง ส่งออก อาหารสำเร็จรูป ขนมและเครื่องดื่ม และนำเข้าวัตถุดิบและเครื่องจักร ต่อมาบริษัทฯ ได้นำเข้าเครื่องจำหน่ายสินค้าอัตโนมัติ (เครื่องอัตโนมัติ) เพื่อจำหน่ายสินค้าประเภทเครื่องดื่มและอาหารบรรจุกระป๋อง จึงขอทราบว่า

1. การขายสินค้าโดยเครื่องอัตโนมัติถือเป็นการค้าปลีกหรือไม่ และบริษัทฯ จะต้อง
ออกใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปหรืออย่างย่อ

2. บริษัทฯ จะต้องจัดทำใบกำกับภาษีในวันที่บริษัทฯ บรรจุสินค้าเข้าเครื่องอัตโนมัติ หรือวันที่นำเงินออกจากเครื่องอัตโนมัติ

3. บริษัทฯ จะต้องแจ้งเปลี่ยนแปลงทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.09) หรือไม่ อย่างไร

4. การนำเครื่องอัตโนมัติไปติดตั้งตามสถานที่ต่าง ๆ เพื่อจำหน่ายสินค้าจะต้องจดทะเบียนเพิ่มสาขาหรือไม่

5. ในการติดตั้งเครื่องอัตโนมัติในสถานที่ต่าง ๆ บริษัทฯ ได้ตกลงจ่ายค่าตอบแทนให้กับเจ้าของสถานที่ “ผู้ให้อนุญาต” ซึ่งเป็นบุคคลธรรมดา บริษัทหรือนิติบุคคลอื่น ๆ หน่วยงานราชการโรงเรียน หรือมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ในลักษณะของค่าเช่าเหมา หรือค่าไฟฟ้าเหมา หรือเปอร์เซนต์จากการขาย ขึ้นอยู่กับการตกลงว่าจะใช้รูปแบบใด บริษัทฯ จะต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายในอัตราเท่าใด

แนววินิจฉัย

กรณีตามข้อเท็จจริง

1. การขายเครื่องดื่มและอาหารบรรจุกระป๋อง ที่บรรจุอยู่ในเครื่องจำหน่ายสินค้าอัตโนมัติเข้าลักษณะเป็นการขายสินค้าที่ผู้ขายทราบโดยชัดแจ้งว่า เป็นการขายให้แก่ผู้บริโภคโดยตรง และในปริมาณซึ่งตามปกติวิสัยของผู้บริโภคโดยตรง และในปริมาณซึ่งตามปกติของผู้บริโภคนั้นจะนำสินค้าไปบริโภคหรือใช้สอยโดยมิได้มีวัตถุประสงค์ที่จะนำไปขายต่อไป ถือเป็นกิจการค้าปลีกตามมาตรา 86/6
แห่งประมวลรัษฎากรประกอบกับข้อ 2 (1) ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม(ฉบับที่ 32)ฯ ลงวันที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2535 บริษัทฯ มีสิทธิออกใบกำกับภาษีอย่างย่อได้ตามมาตรา86/6 วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร

2. การขายเครื่องดื่มและอาหารบรรจุกระป๋อง ที่บรรจุอยู่ในเครื่องจำหน่ายสินค้าอัตโนมัติดังกล่าว ไม่ว่าจะมีการชำระราคาโดยวิธีการหยอดเงิน เหรียญ บัตร หรือด้วยวิธีการในลักษณะทำนองเดียวกัน ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มทั้งหมดเกิดขึ้นเมื่อได้นำเงิน เหรียญ บัตร หรือด้วยวิธีการในลักษณะทำนองเดียวกันออกจากเครื่องอัตโนมัตินั้นตามข้อ 3 แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 189 (พ.ศ.
2534) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มบางกรณี ลงวันที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2534

บริษัทฯ ประกอบกิจการค้าปลีกดังกล่าว จึงมีสิทธิออกใบกำกับภาษีอย่างย่อในขณะที่ความรับผิดชอบในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มดังกล่าวเกิดขึ้นได้ตามมาตรา 86/6 วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร

3. เดิมบริษัทฯ ได้จดทะเบียนประเภทของสินค้าเพียง ผลิต ขายส่ง และส่งออกอาหารสำเร็จรูป ขนม และเครื่องดื่ม ต่อมาเมื่อบริษัทฯ ได้ประกอบกิจการค้าปลีกจึงถือเป็นการเปลี่ยนแปลงรายการที่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มในสาระสำคัญ บริษัทฯ จึงมีหน้าที่ต้องแจ้งเพิ่มประเภทของการประกอบกิจการ “ขายปลีก” ณ สถานที่ที่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มไว้ภายในสิบห้าวันนับจากวันที่มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นตามมาตรา 85/6 แห่งประมวลรัษฎากร

4. การที่บริษัทฯ นำเครื่องอัตโนมัติไปติดตั้งตามสถานที่ต่าง ๆ เพื่อจำหน่ายสินค้า ถ้าบริษัทฯ มิได้จัดให้มีพนักงานหรือบุคคลใดเป็นผู้ให้บริการขายสินค้าในเครื่องอัตโนมัติ กรณีไม่ถือว่าเครื่องอัตโนมัติดังกล่าวเป็นสถานประกอบการตามมาตรา 77/1 (20) แห่งประมวลรัษฎากร บริษัทฯ จึงไม่มีหน้าที่แจ้งการเปิดสถานประกอบการที่ติดตั้งเครื่องอัตโนมัติเพิ่มเติมตามมาตรา 85/7 แห่งประมวลรัษฎากร

5. การที่บริษัทฯ และผู้ให้อนุญาตทำสัญญาอนุญาตให้ติดตั้งเครื่องอัตโนมัติโดยที่ผู้ให้อนุญาตยังเป็นผู้ควบคุมดูแลพื้นที่ติดตั้งนั้น มิได้ส่งมอบการครอบครองพื้นที่ให้บริษัทฯ โดยเด็ดขาด ทั้งผู้ให้อนุญาตมีหน้าที่จะต้องดูแลและรักษาเครื่องอัตโนมัติให้อยู่ในสภาพที่สมบูรณ์เรียบร้อยพร้อมใช้งานได้ตลอดเวลาและแจ้งให้บริษัทฯ ทราบเมื่อเครื่องอัตโนมัติชำรุดเสียหายหรือขัดข้องไม่สามารถใช้งานได้

สัญญาดังกล่าวนั้นจึงเป็นสัญญาต่างตอบแทนประเภทหนึ่งซึ่งไม่ใช่สัญญาเช่าทรัพย์สินหรือสัญญาจ้างทำของค่าตอบแทนตามสัญญาดังกล่าว จึงไม่ใช่ค่าเช่าทรัพย์สินและค่าจ้างทำของ

เมื่อบริษัทฯ จ่ายเงินค่าตอบแทนดังกล่าว จึงไม่มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่ายตามคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.4/2528 ฯ ลงวันที่26 กันยายน พ.ศ. 2528 แต่อย่างใด

ใบกำกับภาษีอย่างย่อ

คุณ Weeree Kanjanawaikoon ได้โพสต์ไปในไทม์ไลน์ “สุเทพ พงษ์พิทักษ์” แฟนเพจ เมื่อ 1 พ.ย. 2556 เวลา 9:21 น. ว่า

“เรียน ท่านอาจารย์สุเทพ

คำถาม

วันนี้มีเรื่องที่จะขอรบกวนสอบถามความเข้าใจเกี่ยวกับใบกำกับภาษีอย่างย่อค่ะ

1. กรณีที่บริษัทฯ จะออกบูทขายสินค้าตามสถานที่ต่าง ๆ เพื่อขายสินค้าให้กับผู้บริโภคโดยตรง ซื่งการซื้อขายแต่ละครั้งไม่น่าจะเกิน 1000 บาทต่อราย ซึ่งถ้าพิจารณาตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่มฉบับที่ 154 แล้ว บริษัทจะถือว่าเป็นผู้ประกอบการขายสินค้าหรือให้บริการรายย่อย ซึ่งมีสิทธิที่จะออกใบกำกับภาษีอย่างย่อได้ โดยไม่ต้องขออนุมัติจากกรมสรรพากร และกรณีที่ผู้ซื้อไม่เรียกร้องใบกำกับภาษี บริษัทสามารถที่จะรวบรวมรายการขายเพื่อออกใบกำกับภาษีอย่างย่อเพียง 1 ใบ ต่อการขายสินค้าใน 1 วันทำการได้ ไม่ทราบว่าที่ดิฉันเข้าใจอย่างนี้ถูกต้องหรือไม่ค่ะ

2. ถ้าบริษัทต้องการที่จะใช้เครื่องบันทึกการเก็บเงินเพื่อออกใบกำกับภาษีอย่างย่อเวลาที่ไปออกบูทในสถานที่ต่าง ๆ โดยเครื่องเก็บเงินนี้จะไม่มีการเชื่อมต่อกับคอมพิวเตอร์แต่อย่างไร จะทำหน้าที่เปรียบเสมือนเครื่องพริ้นเตอร์ และพอสิ้นวันบริษัทก็จะพิมพ์สรุปการขายออกมา เพื่อนำไปบันทึกในระบคอมพิวเตอร์ของบริษัทเพียง 1 ใบ ในกรณีเช่นนี้บริษัทจำเป็นที่จะต้องขออนุมัติจากอธิบดีกรมสรรพากรก่อนหรือไม่ค่ะ

ขอบคุณค่ะ”

ตอบคำถาม

เรียน คุณ Weeree Kanjanawaikoon
1. กรณีที่บริษัทฯ จะออกบูทขายสินค้าตามสถานที่ต่าง ๆ เพื่อขายสินค้าให้กับผู้บริโภคโดยตรง ซื่งการซื้อขายแต่ละครั้งไม่น่าจะเกิน 1000 บาทต่อราย นั้น

(1) กรณีดังกล่าวเข้าลักษณะเป็นเป็นกิจการค้าปลีกตามมาตรา 86/6 แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 32) ลงวันที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2535 ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2535 เป็นต้นมา โดยอธิบดีกรมสรรพากรกำหนดลักษณะและเงื่อนไขของการประกอบกิจการขายสินค้าในลักษณะขายปลีกหรือประกอบกิจการให้บริการในลักษณะบริการรายย่อยแก่บุคคลจำนวนมาก ให้เป็นกิจการค้าปลีก ไว้ดังต่อไปนี้

 

ภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 32)

“ข้อ 2 การประกอบกิจการขายสินค้าในลักษณะขายปลีกหรือการให้บริการในลักษณะบริการรายย่อยแก่บุคคลจำนวนมาก ซึ่งเป็นกิจการค้าปลีกต้องมีลักษณะหรือเงื่อนไขดังต่อไปนี้

(1) เป็นการขายสินค้าที่ผู้ขายทราบโดยชัดแจ้งว่าเป็นการขายให้แก่ผู้บริโภคโดยตรงและได้ขายในปริมาณซึ่งตามปกติวิสัยของผู้บริโภคนั้นจะนำสินค้าไปบริโภคหรือใช้สอยโดยมิได้มีวัตถุประสงค์ที่จะนำไปขายต่อไป เช่น การขายสินค้าของกิจการแผงลอยกิจการขายของชำ กิจการขายยา กิจการจำหน่ายน้ำมัน และกิจการห้างสรรพสินค้า ทั้งนี้ เฉพาะในการขายสินค้าที่เป็นไปตามลักษณะและหรือเงื่อนไขดังกล่าวข้างต้น

(2) การให้บริการในลักษณะบริการรายย่อยแก่บุคคลจำนวนมาก เช่น การให้บริการของกิจการภัตตาคาร กิจการโรงแรม กิจการซ่อมแซมทุกชนิด กิจการโรงภาพยนตร์ และกิจการสถานบริการน้ำมัน เป็นต้น

กิจการภัตตาคารได้แก่กิจการขายอาหารหรือเครื่องดื่มไม่ว่าชนิดใด ๆ รวมทั้งกิจการรับจ้างปรุงอาหารหรือเครื่องดื่ม ทั้งนี้ ไม่ว่าในหรือนอกสถานที่ซึ่งจัดไว้ให้ประชาชนเข้าไปบริโภคได้

(3) ผู้ประกอบการตาม (1) และ (2) ต้องจัดทำใบกำกับภาษีและสำเนาใบกำกับภาษี ซึ่งมีรายการครบถ้วนตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากร สำหรับการขายสินค้าหรือการให้บริการทุกครั้งที่ผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการเรียกร้อง พร้อมทั้งส่งมอบใบกำกับภาษีดังกล่าว ให้แก่ผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการ”

ซึ่งในกรณีนี้ บริษัทฯ มีสิทธิออกใบกำกับภาษีอย่างย่อมิใช่การออกด้วยเครื่องบันทึกการเก็บเงิน (Cash Register) โดยไม่ต้องขออนุมัติจากอธิบดีกรมสรรพากรแต่อย่างใด

(2) สำหรับกรณีตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 154) ลงวันที่ 2 มิถุนายน 2546 ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2546 เป็นต้นมานั้น เป็นกรณีที่อธิบดีกรมสรรพากรอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 86/8 แห่งประมวลรัษฎากร

ภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 154)

กำหนดลักษณะ และเงื่อนไขของการประกอบกิจการขายสินค้าหรือให้บริการรายย่อย และการออกใบกำกับภาษีของผู้ประกอบการจดทะเบียนตามมาตรา 86/8 แห่งประมวลรัษฎากร

ให้ได้สิทธิไม่จำต้องออกใบกำกับภาษีสำหรับการขายสินค้าหรือการให้บริการที่มีมูลค่าครั้งหนึ่งไม่เกิน 1,000 บาท เว้นแต่ผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการจะเรียกร้องใบกำกับภาษี ไว้ดังต่อไปนี้

“ข้อ 2 กำหนดให้การประกอบกิจการดังต่อไปนี้เป็นการขายสินค้าหรือให้บริการรายย่อย

(1) การขายสินค้าหรือให้บริการซึ่งผู้ประกอบการจดทะเบียนไม่เคยมีมูลค่าของฐานภาษีในเดือนใดถึง 300,000 บาท

(2) การขายสินค้าหรือให้บริการซึ่งผู้ประกอบการจดทะเบียนมีสถานประกอบการแต่ละแห่งเป็นรถเข็น แผงลอย หรือหน่วยขายที่มีลักษณะทำนองเดียวกัน

(3) การให้บริการการแสดง การเล่น การกีฬา การแข่งขัน การประกวด หรือการกระทำใดๆ ในลักษณะทำนองเดียวกันที่จัดขึ้นเพื่อเก็บเงินจากผู้ดู ผู้ฟัง ผู้เล่น หรือผู้เข้า แข่งขัน

(4) การประกอบกิจการให้บริการโทรศัพท์สาธารณะ
(5) การประกอบกิจการให้บริการทางพิเศษหรือทางหลวงสัมปทาน
(6) การประกอบกิจการให้บริการสนามบิน
(7) การประกอบกิจการให้บริการสาธารณะที่เกี่ยวเนื่องกับกิจการขนส่งมวลชน เช่น การให้บริการสถานที่จอดรถหรือให้บริการห้องสุขาแก่ประชาชนผู้มาใช้บริการรถไฟฟ้า
คำว่า “กิจการขนส่งมวลชน” หมายความว่า การให้บริการรับขนส่งสาธารณชนผู้ใช้ระบบขนส่งมวลชน

ข้อ 3 ผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ประกอบกิจการขายสินค้าหรือให้บริการรายย่อยตามข้อ 2 ไม่จำต้องออกใบกำกับภาษีสำหรับการขายสินค้าหรือการให้บริการที่มีมูลค่าครั้งหนึ่งไม่เกิน 1,000 บาท เว้นแต่ผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการจะเรียกร้องใบกำกับภาษี

ข้อ 4 ให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนดังกล่าวจัดทำใบกำกับภาษีอย่างย่อรวบรวมการขายสินค้าหรือการให้บริการที่มีมูลค่าครั้งหนึ่งไม่เกิน 1,000 บาท ในหนึ่งวันทำการเพื่อเป็นเอกสารประกอบการลงรายการในรายงานภาษีขายตามมาตรา 87 (1) แห่งประมวลรัษฎากร

โดยให้ลงรายการในรายงานภาษีขายเฉพาะมูลค่าสินค้าหรือบริการและจำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มทั้งหมดต่อวันที่ได้รับหรือพึงได้รับซึ่งเกิดจากใบกำกับภาษีดังกล่าว โดยต้องเก็บใบกำกับภาษีดังกล่าวไว้ตามมาตรา 87/3 แห่งประมวลรัษฎากรด้วย”

ดังนั้น หากลักษณะของการประกอบกิจการของบริษัทฯ ไม่ต้องด้วยประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 154) บริษัทฯ ก็ไม่อาจถือได้ว่าเป็นผู้ประกอบการขายสินค้าหรือให้บริการรายย่อย

ซึ่งบริษัทฯ ต้องออกใบกำกับภาษีอย่างย่อให้แก่ผู้ซื้อสินค้าทุกครั้งที่ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้น

เว้นแต่ กรณีผู้ซื้อเรียกรับใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากร จึงขอให้ทำความเข้าใจข้อกฎหมายโดยถ้วนถี่เสียก่อน

2. กรณีบริษัทฯ ประสงค์จะใช้เครื่องบันทึกการเก็บเงินเพื่อออกใบกำกับภาษีอย่างย่อ เมื่อไปออกบูทในสถานที่ต่างๆ โดยเครื่องเก็บเงินนี้จะไม่มีการเชื่อมต่อกับคอมพิวเตอร์แต่อย่างไร จะทำหน้าที่เปรียบเสมือนเครื่องพริ้นเตอร์ และพอสิ้นวันบริษัทก็จะพิมพ์สรุปการขายออกมา เพื่อนำไปบันทึกในระบบคอมพิวเตอร์ของบริษัทเพียง 1 ใบ นั้น

บริษัทฯ ต้องได้รับอนุมัติจากอธิบดีกรมสรรพากรตามมาตรา 86/6 แห่งประมวลรัษฎากรประกอบกับประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 46) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์การขออนุมัติใช้เครื่องบันทึกการเก็บเงินเพื่อออกใบกำกับภาษีอย่างย่อ และหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการใช้เครื่องบันทึกการเก็บเงินตามมาตรา 86/6 แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2536 ดังนี้

“ข้อ 2 ให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนซึ่งประกอบกิจการค้าปลีกตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 32) เรื่อง กำหนดลักษณะและหรือเงื่อนไขของการประกอบกิจการขายสินค้าในลักษณะขายปลีกหรือประกอบกิจการให้บริการในลักษณะบริการรายย่อยแก่บุคคลจำนวนมาก ให้เป็นกิจการค้าปลีกตามมาตรา 86/6 แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2535 ซึ่งประสงค์จะใช้เครื่องบันทึกการเก็บเงินเพื่อออกใบกำกับภาษีอย่างย่อ ยื่นคำขออนุมัติใช้เครื่องบันทึกการเก็บเงินต่ออธิบดีกรมสรรพากร

คำขออนุมัติให้ยื่นตามแบบที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนด โดยจะต้องแนบเอกสารและรายการดังต่อไปนี้พร้อมกับคำขออนุมัติ
         (1) คุณสมบัติโดยย่อของเครื่องบันทึกการเก็บเงิน
         (2) รายละเอียดรุ่น ยี่ห้อ หมายเลขประจำเครื่อง (Serial Number) และจำนวนเครื่องบันทึกการเก็บเงินที่ขออนุมัติ
         (3) แผนผังแสดงตำแหน่งการวางเครื่องบันทึกการเก็บเงิน
         (4) ในกรณีที่มีการต่อเชื่อมเครื่องบันทึกการเก็บเงินเข้ากับอุปกรณ์คอมพิวเตอร์หรืออุปกรณ์อื่น ให้แสดงแผนผังระบบการต่อเชื่อมดังกล่าวด้วย
         (5) ตัวอย่างใบกำกับภาษีอย่างย่อ และตัวอย่างรายงานการขายสินค้าหรือการ

ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการออกใบกำกับภาษี

กค 0706/3280

บริษัท อ. จำกัด ประกอบกิจการขายส่งและขายปลีกนาฬิกาข้อมือภาพสตรี บริษัทฯ ได้ขายโดยตรงกับบุคคลหรือร้านนาฬิกาในต่างจังหวัด ซึ่งลูกค้าบางรายไม่ยอมรับใบกำกับภาษีที่บริษัทฯ ออกให้สำหรับการขายสินค้าที่ซื้อ บริษัทฯ จึงขอทราบว่า บริษัทฯ มีสิทธิออกใบกำกับภาษีอย่างย่อได้หรือไม่ และบริษัทฯ มีสิทธิออกใบกำกับภาษีแบบเต็มรูป โดยไม่ต้องระบุชื่อผู้ซื้อได้หรือไม่ อย่างไร ่

               1. กรณีบริษัทฯ ขายนาฬิกาข้อมือสุภาพสตรี หากเป็นการขายที่บริษัทฯ ทราบโดยชัดแจ้งว่า เป็นการขายให้แก่ผู้ซื้อซึ่งเป็นผู้บริโภคโดยตรง และได้ขายในปริมาณซึ่งตามปกติวิสัยของผู้บริโภคนั้นจะนำสินค้าไปบริโภค หรือใช้สอยโดยมิได้มีวัตถุประสงค์ที่จะนำไปขายต่อไป จึงเข้าลักษณะเป็นการประกอบกิจการขายสินค้าในลักษณะขายปลีกซึ่งเป็นกิจการค้าปลีกตามมาตรา 86/6 แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 32 ) เรื่อง กำหนดลักษณะ และเงื่อนไขของการประกอบกิจการขายสินค้าในลักษณะขายปลีก หรือประกอบกิจการให้บริการในลักษณะบริการรายย่อยแก่บุคคลจำนวนมาก ให้เป็นกิจการค้าปลีกตามมาตรา 86/6 แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่8 เมษายน พ.ศ. 2535 บริษัทฯ มีสิทธิออกใบกำกับภาษีอย่างย่อซึ่งต้องมีรายการอย่างน้อยตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 86/6 แห่งประมวลรัษฎากร 

            2. กรณีบริษัทฯ ขายส่งนาฬิกาข้อมือสุภาพสตรี บริษัทฯ จะต้องออกใบกำกับภาษีแบบเต็มรูป ซึ่งต้องมีรายการอย่างน้อยตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากร หากบริษัทฯ ออกใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปโดยไม่ระบุชื่อที่อยู่ของผู้ซื้อสินค้า บริษัทฯ มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองพันบาท ทั้งนี้ ตามมาตรา 86/4(3) และมาตรา 90(12) แห่งประมวลรัษฎากร

ใบกำกับภาษีอย่างย่อ กับกิจการที่ประกอบการค้าขายแบบ B2B

คุณ Tiew Panthita‎ (21 สิงหาคม พ.ศ. 2561 เวลา 14:38 น.)
เรียน อาจารยสุเทพ ที่เคารพ
รบกวนถามปัญหาดังนี้ค่ะ

1. บริษัทฯ อยู่ในระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม ประกอบกิจการซื้อมาขายไป ปกติการซื้อขายจะเป็น B2B

….1.1 บางวันจะมีลูกต้า 2-3 คน มาซื้อสินค้าเพื่อใช้ (เดือนละครั้งสองครั้ง บางเดือนก็ไม่มี) ไม่ร้องขอใบกำกับภาษี

….1.2 บริษัทฯ ออกบูธเป็นครั้งคราวจำหน่ายสินค้าให้กับบุคคลทั่วไปที่มาเที่ยวงานลูกค้าไม่ได้ร้องขอใบกำกับภาษี (มูลค่าสินค้าที่ลูกค้าซื้อไม่สูง ราคาหลักร้อย/พันบาท ต่อราย) ต้องการทราบแนวปฎิบัติเกี่ยวกับการออกใบกำกับภาษีค่ะ ว่าเราสามารถรวมยอดการขายทั้งวัน (หลักหมื่นบาท) ต่อหนึ่งใบกำกับภาษีอย่างย่อ หรือการขายหนึ่งรายต่อหนึ่งใบค่ะ

: ได้อ่านประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 32) มีข้อสงสัยคำว่า “บริการรายย่อยแก่บุคคลจำนวนมาก” กรณี 1.1 สามารถทำตามประกาศนี้ได้ไหมค่ะ
ขอบพระคุณค่ะ

สุเทพ พงษ์พิทักษ์
วิสัชชนา

ต่อข้อถาม ขอเรียนว่า

….การประกอบกิจการการขายสินค้าที่ผู้ขายทราบโดยชัดแจ้งว่าเป็นการขายให้แก่ผู้บริโภคโดยตรงและได้ขายในปริมาณซึ่งตามปกติวิสัยของผู้บริโภคนั้นจะนำสินค้าไปบริโภคหรือใช้สอยโดยมิได้มีวัตถุประสงค์ที่จะนำไปขายต่อไป เข้าลักษณะเป็นการขายปลีกตามมาตรา 86/6 แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 32) ลงวันที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2535 ซึ่งบริษัทฯ ไม่สามารถปฏิบัติตามมาตรา 86/8 แห่งประมวลรัษฎากร และประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 254) ลงวันที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2546 ได้ บริษัทฯ มีหน้าที่ออกใบกำกับภาษีอย่างย่อให้แก่ลูกค้าดังกล่าวทุกครั้งที่ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้น (เมื่อส่งมอบสินค้า)

— ขายแบบ B2B แต่มีการขายปลีกในบางครั้ง สามารถออกใบกำกับภาษีอย่างย่อได้ และต้องออกใบกำกับภาษีอย่างย่อทุกครั้งที่ขาย —

ใบกำกับภาษีอย่างย่อ บริษัทฯ ขายของทางอินเตอร์เน็ต โดยในแต่ละวันมีรายการขายสินค้าเป็นจำนวนมาก (ประมาณ 1,000 รายการ)

คุณ Pumpui Naja (26 มิถุนายน 2562 เวลา 11:42 น.)
สอบถามเกี่ยวกับการออกใบกำกับภาษีค่ะ

1. บริษัทฯ ขายของทางอินเตอร์เน็ต โดยในแต่ละวันมีรายการขายสินค้าเป็นจำนวนมาก (ประมาณ 1,000 รายการ) และเดือนๆ นึงมียอดขายเกินหลักล้านค่ะ

      ปัญหาคือ ตอนนี้ต้องเปิดใบกำกับภาษีแบบย่อเป็นจำนวนมากในแต่ละวัน
      มีวิธีไหนที่จะลดปริมาณเอกสารที่ต้องออกบ้างไหมคะ (ผู้ซื้อไม่ได้ให้ข้อมูลเพื่อออกเอกสารค่ะ)

2. บริษัทฯ ได้มีการขายส่งสินค้าด้วยค่ะ โดยมูลค่าที่เปิดบิลประมาณ 50,000-100,000 บาท แต่ว่า ผู้ซื้อไม่ให้ข้อมูลเพื่อออกใบกำกับภาษี แบบนี้สามารถที่จะออกใบกำกับภาษีแบบย่อไปได้ไหมคะ (แต่เป็นการขายส่งนะคะ)
ขอบพระคุณค่ะ

สุเทพ พงษ์พิทักษ์

วิสัชนา:

1. บริษัทฯ ขายของทางอินเทอร์เน็ต โดยในแต่ละวันมีรายการขายสินค้าเป็นจำนวนมาก (ประมาณ 1,000 รายการ) และเดือนๆ นึงมียอดขายเกินหลักล้านค่ะ ปัญหา คือ ตอนนี้ต้องเปิดใบกำกับภาษีอย่างย่อเป็นจำนวนมากในแต่ละวัน นั้น

             บริษัทฯ สามารถขออนุมัติกรมสรรพากรออกใบกำกับภาษีอย่างย่อด้วยเครื่องบันทึกการเก็บเงิน (Cash Register) ตามมาตรา 86/6 แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 46) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์การขออนุมัติใช้เครื่องบันทึกการเก็บเงินเพื่อออกใบกำกับภาษีอย่างย่อ และหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการใช้เครื่องบันทึกการเก็บเงินตามมาตรา 86/6 แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2536
(http://www.rd.go.th/publish/3394.0.html)
ก็จะช่วยลดแรงงานในการจัดทำเอกสารใบกำกับภาษีที่ต้องออกลงได้บ้าง

2. บริษัทฯ ได้มีการขายส่งสินค้าด้วยค่ะ โดยมูลค่าที่เปิดบิลประมาณ 50,000 – 100,000 บาท แต่ว่า แม้ผู้ซื้อไม่ให้ข้อมูลเพื่อออกใบกำกับภาษี

            บริษัทฯ ก็ไม่มีสิทธิที่จะออกใบกำกับภาษีอย่างย่อได้ เพราะการขายส่งต้องออกใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากร เท่านั้น

การออกใบกำกับภาษีในกรณีออกบูธขายสินค้าตามสถานที่ต่าง ๆ

Inbox: ศุกร์ที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2562 เวลา 10:29 น.
คุณ Proud Heart “วาสนา”
กราบเรียนอาจารย์ ขอคำปรึกษาเกี่ยวกับการออกใบกำกับภาษีในกรณีออกบูธขายสินค้าตามสถานที่ต่าง ๆ ดังนี้
• ลูกค้าซื้อสินค้าต่อบิลมีมูลค่าไม่ถึง 1,000.00 บาท
• ลูกค้าซื้อสินค้าต่อบิลมีมูลค่าตั้งแต่ 1,000.00 บาทขึ้นไป

• ใบกำกับภาษี

1.ลูกค้าไม่ต้องการใบกำกับภาษี

2. ลูกค้าต้องการใบกำกับภาษี
จากรายละเอียดข้างต้น ณ ปัจจุบัน
บริษัทฯ มีการปฏิบัติดังนี้

1. ใบกำกับภาษี จะออกในนามพนักงาน ที่รับผิดชอบในการเปิดบูธ-กรณีลูกค้าไม่ต้องการใบกำกับภาษี ซึ่ง ณ ปัจจุบันมียอดขายสูงขึ้นมาก เช่น ปี 2562 ตั้งแต่เดือน มกราคม-สิงหาคม ยอดขายประมาณ 1,800,000.00 บาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม)

2. ใบกำกับภาษี ออกในนามลูกค้า – กรณีลูกค้าร้องขอ
จึงไม่ทราบว่าที่ปฏิบัติอยู่ ณ ปัจจุบันถูกต้องหรือไม่ และถ้าไม่ถูกต้องควรจะทำอย่างไรคะ
กราบขอบพระคุณอาจารย์ล่วงหน้าค่ะ
ขอแสดงความนับถือ

สุเทพ พงษ์พิทักษ์

วิสัชนา:

เกี่ยวกับการออกใบกำกับภาษีในกรณีออกบูธขายสินค้าตามสถานที่ต่าง ๆ ทั้งกรณีที่ลูกค้าซื้อสินค้าต่อบิลมีมูลค่าไม่ถึง 1,000.00 บาท และลูกค้าซื้อสินค้าต่อบิลมีมูลค่าตั้งแต่ 1,000.00 บาทขึ้นไป

• การขายสินค้าในกรณีออกบูธ เข้าลักษณะเป็นการขายปลีกตามมาตรา 86/6 แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 32) บริษัทฯ จึงสามารถออกใบกำกับภาษีอย่างย่อ ที่ไม่ต้องมีชื่อลูกค้าได้ เว้นแต่ลูกค้าต้องการใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปที่มีชื่อ ที่อยู่ และเลขประจำตัว รวมทั้ง สำนักงานใหญ่/สาขา จึงจะออกใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปให้ลูกค้า

Related Articles | บทความที่คุณอาจสนใจ

สำนักงานบัญชี BEE - Accountant @beeaccountant
บริษัท บี.อี. แอคเคาน์ติ้ง เซอร์วิสเซส จำกัด ติดต่อ TEL 091-830-3543 ให้บริการ รับทำบัญชี รายเดือน รับทำรายปี จัดทำภาษี รายเดือน จัดทำภาษีรายปี และตรวจสอบบัญชี สำหรับกิจการนิติบุคคล หรือบุคคลธรรมดาทุกประเภทกิจการ
Click Here
ประเภทกิจการรับ ทำบัญชี
กิจการซื้อมาขายไป กิจการบริการ กิจการผลิต
ร้านทอง ร้านยา จำหน่าย รถยนต์ รถจักรยานยนต์ อัญมณี นำเข้า ส่งออก Agency ทัวร์ อสังหาริมทรัพย์ สิ่งพิมพ์ เครื่องจักร ขนส่ง จัดหาพนักงาน นายหน้า ประกันชีวิต ประกันวินาศภัย คลินิก ความงาม ทันตกรรม ผลไม้ พื้นที่เช่า Co working space อาหาร รับเหมา เครื่องจักร ธุรกิจที่ถูกต้องตามกฎหมายทุกประเภท
Click Here
ข้อดีของบริการ รับทำบัญชี ของสำนักงานบัญชี
ผู้ประกอบการได้ทุ่มเททรัพยากรทั้งหมดไปที่ธุรกิจหลักของกิจการได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ​ ควบคุมค่าใช้จ่ายของกิจการ ประมาณการวางแผนงบประมาณได้ดี
สำนักงาน update ความรู้และ เทคโนโลยีให้ทันกับหน่วยงานต่างๆ เช่น กรมสรรพากร
ธุรกิจการต่างๆ เช่น ร้านค้าออนไลน์ กิจการซื้อมาขายไป กิจการผลิต กิจการนายหน้าประกันชีวิต นายหน้าประกันวินาศภัย (ตามกฎ OIC)​
Designed by pch.vector / Freepik
รับทำบัญชี
Click Here
Previous
Next

คำค้นหา ใบกำกับภาษีอย่างย่อ รายงานภาษีขาย ใบกำกับภาษีอย่างย่อ ใบกำกับภาษีอย่างย่อ ภาษาอังกฤษ ตัวอย่างใบกำกับภาษีอย่างย่อร้านทอง ใบ กำกับ ภาษี อย่าง ย่อ pantip ใบกํากับภาษีอย่างย่อ บันทึกบัญชีอย่างไร ใบกํากับภาษีอย่างย่อ excel ใบกํากับภาษีอย่างย่อ ยื่นภาษีได้หรือไม่ ใบเสร็จรับเงิน/ใบกำกับภาษีอย่างย่อ บกำกับภาษีอย่างย่อ ตัวอย่างใบกำกับภาษีอย่างย่อ ใบกํากับภาษีอย่างย่อ ยื่นภาษีได้หรือไม่ ใบกํากับภาษีอย่างย่อ excel ใบกํากับภาษีอย่างย่อ บันทึกบัญชีอย่างไร ใบกํากับภาษีอย่างย่อ สรรพากร ใบ กำกับ ภาษี อย่าง ย่อ pantip ใบกำกับภาษีอย่างย่อ ภาษาอังกฤษ หลักเกณฑ์ การ ออก ใบ กำกับ ภาษี

Bee-Accountant service

Our mission

Bee Accountant ยึดมั่นในความถูกต้อง โปร่งใส ตรงเวลา งานได้คุณภาพ ตรวจสอบได้จากทุกหน่วยงาน เช่นกรมสรรพากร กรมพัฒนาธุรกิจการค้า  คปภ และหน่วยงานอื่นๆ

บริษัท บี.อี. แอคเคาน์ติ้ง เซอร์วิสเซส จำกัด
สำนักงานใหญ่ TAX ID 0105561120432

Contact us

Post Views: 41,172

BeE Accountant

we'd love to have your feedback on your experience so far

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

บันทึกการตั้งค่า