Skip to content

ใบกำกับภาษี ใบกำกับภาษีปลอม คือ??

ใบกำกับภาษี VS ใบกำกับภาษีปลอมคือ!

ใบกำกับภาษี คืออะไร  อะไรคือการปลอม ใบกำกับภาษี  ใบกำกับภาษี นับว่ามีความสำคัญอย่างมากที่ผู้เสียภาษีนำมาเป็นหลักฐานในการเครดิตหรือขอคืนภาษี หรือเปรียบเสมือนเป็นหลักฐานทางการเงิน ดังพบถ้าหากว่าใบกำกับภาษีไม่ถูกต้องแล้ว ผู้เสียภาษีนำมาขอเครดิตหรือขอคืนภาษีแล้ว จะทำให้รัฐเกิดความเสียหาย ในการเก็บภาษีเข้ารัฐ ใบกำกับภาษี ที่ไม่ถูกต้องมีหลายกรณี แต่ที่ถือว่ามีความสำคัญอย่างมากก็คือ ใบกำกับภาษีปลอม เพราะว่าเป็นการจงใจเจตนา ที่ต้องการหลีกเลี่ยงภาษีและเป็นความผิดร้ายแรง และ

ในปัจจุบันก็ยังมีผู้เสียภาษีบางกลุ่มที่ยังใช้ ใบกำกับภาษีปลอม  ซึ่งเป็นปัญหาที่เจ้าหน้าที่ผู้ตรวจต้องติดตามหรือตรวจให้พบ หรือป้องกันไม่ให้ผู้เสียภาษีนำใบกำกับภาษีปลอมมาใช้ โดยหาวิธีการตรวจเพื่อเป็นแนวทางต่อไป

ในบทความนี้ทาง Bee – Accountant สรุปเกี่ยวกับใบกำกับภาษี สารพันปัญหาใบกำกับภาษี  ใบกำกับภาษีปลอม ใบกำกับภาษีที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย บทลงโทษทางแพ่งและทางอาญา อายุความใบกำกับภาษีปลอม รวมทั้งประเด็นที่ทางสรรพากรใช้ในการประเมินผู้ออกใบกำกับภาษีปลอมในเบื้องต้น

ใบกำกับภาษี คือ

เอกสารหลักฐานสำคัญ ซึ่งผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มจะต้องจัดทำและออกให้กับผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการทุกครั้งที่มีการขายสินค้าหรือให้บริการ เพื่อแสดงมูลค่าของสินค้าหรือบริการและจำนวนภาษีมูลค่าเพิ่ม ที่ผู้ประกอบการจดทะเบียนเรียกเก็บหรือพึงเรียกเก็บจากผู้ซื้อสินค้า หรือรับบริการในแต่ละครั้ง

  1. กรณีการขายสินค้า ผู้ประกอบการจดทะเบียนมีหน้าที่ต้องออก ใบกำกับภาษี พร้อมทั้งส่งมอบให้แก่ผู้ซื้อในในทันทีที่มีการส่งมอบสินค้าให้กับผู้ซื้อ
  2. กรณีการให้บริการ ผู้ประกอบการจดทะเบียนมีหน้าที่ต้องออกใบกำกับภาษีพร้อมทั้งส่งมอบให้แก่ผู้รับบริการในทันทีที่ได้รับชำระราคาค่าบริการ

ผู้ประกอบการจดทะเบียนต้องจัดทำใบกำกับภาษีอย่างน้อย 2 ฉบับ ดังนี้

–  ต้นฉบับ ผู้ประกอบการต้องส่งมอบให้กับผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการ

–  สำเนา ผู้ประกอบการต้องเก็บรักษาไว้เพื่อเป็นหลักฐานประกอบการลงรายงานภาษีเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 5 ปีนับแต่วันที่ทำรายงาน 

เฉพาะผู้ประกอบการจดทะเบียนที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 0 หรือ อัตราร้อยละ 7.0 เท่านั้น ที่มีหน้าที่ต้องออกใบกำกับภาษีให้กับผู้ซื้อ สำหรับกิจการที่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ไม่มีสิทธิออก ใบกำกับภาษี ให้กับผู้ซื้อแต่อย่างใด ผู้ประกอบการจดทะเบียนออกใบกำกับภาษีจะต้องมีองค์ประกอบคือ เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มและได้มีการขายสินค้าหรือให้บริการแก่ผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการนั้นๆ โดยต้องออกใบกำกับภาษีให้แก่ผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการนั้น จะออกให้บุคคลอื่นไม่ได้

1. ผู้ประกอบการจดทะเบียนโดยทั่วไป มีหน้าที่ต้องออกใบกำกับภาษีแบบเต็มรูป ให้แก่ผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการ ซึ่งใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปจะต้องมีรายการอย่างน้อยดังต่อไปนี้ (มาตรา 86/4)

(1) คำว่า “ใบกำกับภาษี”

(2) เลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้ขายสินค้าหรือให้บริการ

(3) ชื่อ ที่อยู่ ของผู้ขายสินค้าหรือให้บริการ พร้อมระบุสำนักงานใหญ่ หรือ สาขา

(4) ชื่อ ที่อยู่ ของผู้ซื้อสินค้าหรือรับบริการ / เลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากร

(5) หมายเลขลำดับของใบกำกับภาษีและหมายเลขลำดับของเล่ม (ถ้ามี)

(6) วัน เดือน ปี ที่ออกใบกำกับภาษี

(7) ชื่อ ชนิด ประเภท ปริมาณและมูลค่าของสินค้าหรือของบริการ

(8) จำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มที่คำนวณจากมูลค่าของสินค้าหรือของบริการ โดยให้แยกออกจากมูลค่าของสินค้าหรือของบริการให้ชัดแจ้ง

กรณีที่มีการขายสินค้าเป็นเงินเชื่อ

เก็บต้นฉบับใบส่งของไว้เพื่อเป็นหลักฐานในการฟ้องคดีกรณีผู้ซื้อไม่ชำระราคาค่าสินค้า ออกใบกำกับภาษีแยกต่างหากจากใบส่งของ เมื่อมีการส่งมอบสินค้า สำเนาใบส่งของให้กับผู้ซื้อและส่งมอบต้นฉบับใบกำกับภาษี

กรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนมีสถานประกอบการหลายแห่ง

กรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนมีสถานประกอบการหลายแห่ง และสถานประกอบการที่มิใช่สำนักงานใหญ่ได้นำใบกำกับภาษีของสถานประกอบการที่เป็นสำนักงานใหญ่ไปส่งมอบให้แก่ผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการทุกครั้งที่มีการขายสินค้าหรือการให้บริการ จะต้องมีข้อความว่า “สาขาที่ออกใบกำกับคือ…..” ไว้ในใบกำกับภาษีดังกล่าว โดยข้อความดังกล่าวจะตีพิมพ์ จัดทำขึ้นด้วยระบบคอมพิวเตอร์ ประทับด้วยตรายางเขียนด้วยหมึก พิมพ์ดีด หรือทำให้ปรากฏขึ้นด้วย วิธีการอื่นใดในลักษณะทำนองเดียวกันก็ได้

กรณีของการฝากขายสินค้า

ตามสัญญาการตั้งตัวแทนเพื่อขายสินค้า ซึ่งตัวการและตัวแทนเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม และทำสัญญาตั้งตัวแทนเพื่อขายสินค้า โดยตัวการได้ส่งมอบสัญญาให้แก่เจ้าพนักงานสรรพากรภายใน 15 วันนับแต่วันทำสัญญาตั้งตัวแทน เมื่อตัวแทนได้ขายสินค้าให้กับผู้ซื้อ ตัวแทนต้องออกใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปในนามของตัวการ โดยตัวแทนต้องระบุชื่อ ที่อยู่และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของตัวแทนด้วย

เอกสารสำคัญในอีกรูปแบบหนึ่งสำหรับกิจการที่เป็น “กิจการค้าปลีก” ที่เป็นการขายให้กับผู้บริโภคโดยตรง หรือให้บริการรายย่อยแก่บุคคลจำนวนมาก ตัวอย่างเช่น บิลใบเสร็จจากเซเว่น

ออกใบกำกับภาษีอย่างย่อต้องยื่นขอกรมสรรพากร

การจะใช้เครื่องบันทึกการเก็บเงินเพื่อออกใบกำกับภาษีอย่างย่อ ต้องทำการยื่นคำขอใช้เครื่องบันทึกการเก็บเงินต่ออธิบดีกรมสรรพากร ผ่านสรรพากรพื้นที่ในเขตท้องที่ที่สถานประกอบการตั้งอยู่ด้วย

ความยืดหยุ่นในการออกใบกำกับภาษีอย่างย่อ(บางข้อ)

  • ไม่ต้องออกใบกำกับภาษี หากขายสินค้าหรือบริการครั้งหนึ่งไม่เกิน 1,000 บาท กรณีขายสินค้าหรือบริการไม่เคยมีมูลค่าของฐานภาษีเดือนใดถึง 300,000 บาท หรือขายสินค้าในลักษณะรถเข็น แผงลอย รวมถึงการให้บริการแสดง กีฬา การประกวดที่จัดขึ้นแล้วเก็บเงินจากผู้ดู ผู้ฟัง ผู้เข้าร่วม เป็นต้นครับ โดยให้รวบรวมมูลค่าของการขายหรือการให้บริการใน 1 วันเพื่อทำใบกำกับภาษีอย่างย่อ 1 ฉบับเพื่อลงรายงานภาษีขายได้เลย
  • สถานบริการน้ำมันที่มีมูลค่าครั้งหนึ่งไม่เกิน 1,000 บาท ก็ไม่ต้องออกใบกำกับภาษีครับ (แต่ถ้าลูกค้าร้องขอก็ยังมีหน้าที่ต้องออกให้นะครับ)
  • ถ้าขายของให้ลูกค้ารายหนึ่งซ้ำๆ กันจำนวนหลายครั้งใน 1 วันสามารถรวบรวมแล้วออกเป็นใบกำกับภาษีรวมเป็นครั้งเดียวในหนึ่งวันทำการได้ครับ
  • การลงรายงานภาษีขายสำหรับผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ออกใบกำกับภาษีอย่างย่อ ไม่ต้องระบุชื่อผู้ซื้อสินค้าหรือบริการก็ได้

ใบกำกับภาษีอย่างย่อ

  • ไม่จำเป็นต้องแสดงชื่อ ที่อยู่ เลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการ
  • ชื่อ ชนิด และประเภทของสินค้าสามารถแสดงเป็นรหัสได้
  • มีข้อความแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าราคาสินค้าหรือบริการนั้นมีการรวมภาษีมูลค่าเพิ่มไว้แล้ว
  • ไม่สามารถนำไปหักออกจากภาษีขายในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มเพื่อนำส่ง ภพ.30 ได้

ใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปแบบ

  • ต้องแสดงชื่อ ที่อยู่ และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีของผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการอย่างชัดเจน
  • ต้องแสดงชื่อ ชนิด และประเภทของสินค้าอย่างชัดเจน
  • ต้องแสดงจำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มแยกออกจากมูลค่าของสินค้าหรือบริการอย่างชัดเจน
  • สามารถนำไปหักออกจากภาษีขายในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มเพื่อนำส่ง ภพ.30 ได้

1. สิทธิที่จะออกใบกำกับภาษีสำหรับการประกอบกิจการขายสินค้าหรือให้บริการ ตามมาตรา 86 แห่งประมวลรัษฎากร

2. สิทธิที่จะเรียกเก็บภาษีขาย ตามมาตรา 82/4 แห่งประมวลรัษฎากร

3. สิทธิที่จะนำภาษีซื้อไปหักออกจากภาษีขายในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 82/3 แห่งประมวลรัษฎากร

4. สิทธิที่จะขอคืนภาษีซื้อ กรณีภาษีซื้อมากกว่าภาษีขาย ตามมาตรา 84 แห่งประมวลรัษฎากร

5. สิทธิที่จะเสียภาษีมูลค่าเพิ่มอัตราร้อยละ 0 ตามมาตรา 80/1 แห่งประมวลรัษฎากร

ภาษีมูลค่าเพิ่ม  / ภพ 30 เบี้ยปรับ กรณียื่นแบบเพิ่มเติม จากสาเหตุต่างๆ เช่น  ยื่นภาษีซื้อเกิน ยื่นภาษีขายขาด แยกได้ 2 ประเภท

 

  1. กรณีที่ยื่นแบบภพ 30มาภายในเวลาที่กำหนด คือ ภายใน วันที่ 15 ของเดือน ถัดไป หรือ ภายในวันที่ 23 ของเดือนถัดไปกรณี ยื่นแบบผ่านระบบ internet
    เบี้ยปรับ กรณียื่นแบบภพ 30 คิดดังนี้


    ชำระรายใน 1-15 วัน     อัตราเบี้ยปรับ (ลดแล้ว) 2%
    ชำระรายใน 16-30 วัน อัตราเบี้ยปรับ (ลดแล้ว) 5%
    ชำระรายใน 31-60 วัน อัตราเบี้ยปรับ (ลดแล้ว) 10%
    ชำระรายเกิน 60 วัน   อัตราเบี้ยปรับ (ลดแล้ว) 20%


  2. กรณีไม่ได้ยื่นแบบ ไม่ได้ยื่นแบบภาษีมูลค่าเพิ่มเลย หรือยื่นแบบแต่ยื่นเกินกำหนดเวลาตามที่กำหนดไว้ และยื่นแบบเพิ่มเติมอีกครั้ง ค่าเบี้ยปรับเป็นดังนี้

    ชำระรายใน 1-15 วัน     อัตราเบี้ยปรับ (ลดแล้ว) 2% * 2 
    ชำระรายใน 16-30 วัน อัตราเบี้ยปรับ (ลดแล้ว) 5% * 2 
    ชำระรายใน 31-60 วัน อัตราเบี้ยปรับ (ลดแล้ว) 10%* 2 
    ชำระรายเกิน 60 วัน   อัตราเบี้ยปรับ (ลดแล้ว) 20%* 2 

    ถึงไม่มีภาษีต้องชำระตามแบบ ภพ 30 แต่ยังคงมีค่าปรับอาญากรณีไม่ยื่นแบบ 500 บาท

    ขอแนะนำว่าในการคำนวณค่าเบี้ยปรับเงินเพิ่มให้ติดต่อสรรพากรเขตเพื่อให้ได้ยอดที่ถูกต้องพร้อมแนบหลักฐานแบบภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภพ 30) พร้อมใบเสร็จรับเงินที่ได้ชำระแล้วเข้าไปติดต่อเพื่อให้ได้ตัวเลขประกอบการยื่นเพิ่มเติมที่ถูกต้อง

การเก็บใบกำกับภาษี

จากเพจ  ภาษีรู้ไว้ได้เปรียบ

การเก็บรักษาใบกำกับภาษี

  1. เก็บไว้ไม่น้อยกว่า 5 ปี นับแต่วันที่ที่ออกใบกำกับภาษี

   2. และต้องเก็บต่อเนื่องอีก 2 ปี นับแต่วันเลิกกิจการ

 

ใบกำกับภาษี
ตัวอย่างเอกสารจาก เพจ พรีหนอมสอนภาษีธุรกิจ

หลักเกณฑ์การงดหรือลดเบี้ยปรับหรือเงินเพิ่มภาษีเงินได้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีธุรกิจเฉพาะ

คำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป. 81/2542 เรื่อง      หลักเกณฑ์การงดหรือลดเบี้ยปรับหรือเงินเพิ่มภาษีเงินได้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีธุรกิจเฉพาะตามมาตรา 22 มาตรา 26 มาตรา 67 ตรี มาตรา 89 และมาตรา 91/21(6) แห่งประมวลรัษฎากร

การฃอพิจารณางดหรือลดเบี้ยปรับให้ได้เฉพาะกรณีเจ้า พนักงานประเมินเห็นว่า บุคคลที่จะต้องเสียเบี้ยปรับไม่มีเจตนาหลีกเลี่ยงภาษีและได้ให้ความ ร่วมมือในการตรวจสอบไต่สวนด้วยดี – เป็นเงื่อนไขหลักในการพิจารณาลดเบี้ยปรับ เงินเพิ่ม ถ้าผู้เสียภาษีแสดงเจตนานี้ทางเจ้าหน้าที่มีสิทธิ์ยกเลิกอัตราลดเบี้ยปรับเงินเพิ่มได้

ในกรณีผู้มีหน้าที่เสียภาษีหรือผู้มีหน้าที่นำส่งภาษีตามมาตรา 83/7 แห่งประมวลรัษฎากร ได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีหรือแบบนำส่งภาษีและชำระภาษีมูลค่าเพิ่ม พร้อมกับการยื่นแบบแสดงรายการหรือแบบนำส่งนั้น โดยไม่ได้รับคำเตือนหรือคำเรียกตรวจ สอบไต่สวนโดยตรงเป็นหนังสือ ให้เสียเบี้ยปรับดังนี้ 

หมายความว่า ถ้ากิจการได้ยื่นแบบภาษีมูลค่าเพิ่มตามระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดในงวดนั้น ๆ การยื่นภาษีเพิ่มเติม ทางเจ้าหน้าที่สามารถลดเบี้ยปรับเงินเพิ่มให้ได้ดังนี้

                          (ก) ถ้าชำระภายใน 15 วัน นับแต่วันพ้นกำหนดเวลาชำระภาษี มูลค่าเพิ่ม ให้เสียร้อยละ 2 ของเบี้ยปรับ

                          (ข) ถ้าชำระภายหลัง 15 วัน แต่ไม่เกิน 30 วัน นับแต่วันพ้น กำหนดเวลาชำระภาษีมูลค่าเพิ่ม ให้เสียร้อยละ 5 ของเบี้ยปรับ 

                          (ค) ถ้าชำระภายหลัง 30 วัน แต่ไม่เกิน 60 วัน นับแต่วันพ้น กำหนดเวลาชำระภาษีมูลค่าเพิ่ม ให้เสียร้อยละ 10 ของเบี้ยปรับ

                          (ง) ถ้าชำระภายหลัง 60 วัน นับแต่วันพ้นกำหนดเวลาชำระภาษี มูลค่าเพิ่ม ให้เสียร้อยละ 20 ของเบี้ยปรับ

การลด / งดเบี้ยปรับ
กรณีทั่วไป

ภายใน 15 วัน นับจากวันพ้นกำหนดยื่่นแบบอัตราเบี้ยปรับ 2%
15 - 30 วัน นับจากวันพ้นกำหนดยื่่นแบบอัตราเบี้ยปรับ 5%
31 - 60 วัน นับจากวันพ้นกำหนดยื่่นแบบอัตราเบี้ยปรับ 10%
เกินกว่า 60 วัน นับจากวันพ้นกำหนดยื่่นแบบอัตราเบี้ยปรับ 20%
จนทประะเมิน ยื่นแบบภายในระยะเวลาที่จนท สรรพากรกำหนด อัตราเบี้ยปรับ 40%
จนทประะเมิน ยื่นแบบเกินระยะเวลาที่จนท สรรพากรกำหนด อัตราเบี้ยปรับ 50%

การลด งดเบี้ยปรับกรณี ซึ่งไม่ใช่กรณีมีสินค้าขาดจากรายงานสินค้าและวัตถุดิบ 

ทำผิดภายใน 1 ปี นับแต่จด VAT อัตราเบี้ยปรับ 40%
ทำผิดภายหลัง 1 ปี นับแต่จด VAT อัตราเบี้ยปรับ 50%

การลด งดเบี้ยปรับกรณี กรณีมีสินค้าขาดจากรายงานสินค้าและวัตถุดิบ 

กรณีนำฐานภาษีของสินค้าที่ขาดไปยื่น VAT ไม่ว่าถูกหรือผิด

ทำผิดภายใน 2 ปี นับแต่วันจด VATอัตราเบี้ยปรับ 10%
ทำผิดภายหลัง 2 ปี นับแต่วันจด VATอัตราเบี้ยปรับ 20%

กรณีไม่นำฐานภาษีของสินค้าที่ขาดไปยื่น VAT เลย อัตราเบี้ยปรับ 30%

ไม่ยื่นแบบจากมูลค่าสินค้าที่ขาดไปอัตราเบี้ยปรับ 30%

การลดเงินเพิ่ม

ภายใน 2 วัน นับจากวันพ้นกำหนดยื่่นแบบอัตราเบี้ยปรับร้อยละ 0.1 %
2-7 วัน นับจากวันพ้นกำหนดยื่่นแบบอัตราเบี้ยปรับ 0.5 %
เกินกว่า วัน นับจากวันพ้นกำหนดยื่่นแบบอัตราเบี้ยปรับต่อเดือน 1.5 %
รายชื่อผู้ประกอบการ VAT
ตรวจสอบรายชื่อผู้ประกอบการ VAT

สารพันปัญหากับ ใบกำกับภาษี

สาเหตุของการยกเลิก และการออกใบแทนใบกำกับภาษีฉบับเดิม

มีหลายสาเหตุที่ทางลูกค้า หรือผู้ซื้อ อาจร้องขอให้ทางกิจการออกใบกำกับแทนใบกำกับฉบับเดิ่ม เช่น

  1. รายการในใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปมีข้อความไม่ถูกต้อง หรือไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ ส่วนที่เป็นสาระัสำคัญ ตามมาตรา 86/4 เช่น ชื่อ หรือ ที่อยู่ของลูกค้าไม่ต้องตามที่จดทะุเบียนไว้ / จำนวนเงินค่าภาษีมูลค่าเพิ่มมีจำนวนสูง หรือ ต่ำ เกินความเป็นจริง
  2. รายการในใบกำกับภาษีแบบเต็มรูป มีการแก้ไขในส่วนที่เป็นสาระสำคัญ ตามมาตรา 86/4
  3. ข้อความว่า “ใบกำกับภาษี” และ/หรือ ที่อยู่ เลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากร อย่างหนึ่งอย่างใด หรือทั้งหมดมิได้จัดพิมพ์ลงไปในใบกำกับภาษีแบบเต็มรูป                                                                                                                                                                           
  4. ตามข้อ 3 มีการจัดพิมพ์ โดยรายการอื่นในส่วนที่เป็นสาระสำคัญตามมาตรา 86/4 มิได้พิมพ์จากโรงพิมพ์ หรือจัดทำขึ้นด้วคอมพิวเตอร์
  5. ลูกค้าได้รับใบกำกับภาษีอย่างย่อซึ่งไม่สามารถนำไปใช้ภาษีซื้อตามใบกำกับภาษีอย่างย่อได้

การยกเลิกใบกำกับภาษีฉบับเดิม แล้วออกฉบับใหม่ ทำอย่างไร

ในธุรกิจขาย ผลิต หรือบริการ ที่อยู่ในระบบภาษีมูลค่าเพิ่มนั้น ทุกิจการต้องเจอกัน การยกเลิก เปลี่ยนแปลง ใบกำกับภาษีฉบับเดิม แล้วออกฉบับใหม่ ทำอย่างไร     

การเปลี่ยนแปลงมีหลายลักษณะเช่น ที่อยู่ ถนน รายละเอียดในสินค้าหรือบริการต่างๆ  กิจการต้องดำเนินการแก้ไขใบกำกับภาษีให้ถูกต้องเพื่อประโยชน์ของผู้ออกใบกำกับภาษี และผู้ได้รับใบกำกับภาษีสามารถนำภาษีไปใช้ได้อย่างถูกอต้ง

       กรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนซึ่งได้จัดทำใบกำกับภาษีที่มีรายการในส่วนที่เป็นสาระสำคัญไม่ถูกต้องครบถ้วน เมื่อได้รับการร้องขอให้ยกเลิกใบกำกับภาษีฉบับเดิมและจัดทำใบกำกับภาษีฉบับใหม่ที่ถูกต้อง ให้ดำเนินการดังนี้

 

       1.   เรียกคืนใบกำกับภาษีฉบับเดิมและนำมาประทับตราว่า “ยกเลิก” หรือขีดฆ่าแล้วเก็บรวบรวมไว้กับสำเนาใบกำกับภาษีฉบับเดิม


       2.   จัดทำใบกำกับภาษีฉบับใหม่ซึ่งเป็นเลขที่ใหม่ แต่จะต้องลงวัน เดือน ปี ให้ตรงกับ วัน เดือน ปี ตามใบกำกับภาษีฉบับเดิม และ


       3.   หมายเหตุไว้ในใบกำกับภาษีฉบับใหม่ว่า “เป็นการยกเลิกและออกใบกำกับภาษีฉบับใหม่แทนฉบับเดิมเลขที่… เล่มที่….” และหมายเหตุการยกเลิกใบกำกับภาษีไว้ในรายงานภาษีขายของเดือนภาษีที่จัดทำใบกำกับภาษีฉบับใหม่ด้วย

 

       4.   ผู้ประกอบการที่ขอให้ยกเลิกใบกำกับภาษีฉบับเดิม และออกฉบับใหม่ ต้องถ่ายเอกสารใบกำกับภาษีฉบับเดิม (ฉบับที่ขอยกเลิก) ติดเรื่องไว้ และส่งมอบใบกำกับภาษีฉบับที่ขอยกเลิกคืนให้ผู้ออกใบกำกับภาษีนำไปรวมกับสำเนาไว้เป็นหลักฐาน

 

       5.   ให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ออกใบกำกับภาษีฉบับใหม่ หมายเหตุการยกเลิกใบกำกับภาษีไว้ในรายงานภาษีขายประจำเดือนที่ออกใบกำกับภาษีฉบับใหม่แทนด้วย

ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการแก้ไขที่อยู่ในแบบพิมพ์ใบกำกับภาษี

ผู้ประกอบการสามารถแก้ไขที่อยู่ในใบกำกับภาษีที่ให้ถูกต้อง ตามที่ทางราชการ ประกาศเปลี่ยนแปลงได้ พร้อมกับลงลายมือชื่อผู้ออกใบกำกับภาษีกำกับการแก้ไขหรือประทับตรายางที่อยู่ที่ถูกต้องเพิ่มเติมใน ใบกำกับภาษี ซึ่งจะมีกำหนดไม่เกิน 1 ปีนับแต่วันที่เปลี่ยนแปลง

เลขที่หนังสือ : กค 0811/พ.13389

บริษัทฯ ได้รับแจ้งจากสำนักทะเบียนท้องถิ่น ให้เปลี่ยนแปลงเลขหมายประจำบ้านซึ่งเป็นที่ตั้งของบริษัทฯ จากบ้านเลขที่หนึ่ง เป็นบ้านเลขที่อีกแห่งหนึ่ง ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2551

แต่เนื่องจากบริษัทฯ ได้สั่งพิมพ์ใบกำกับภาษีก่อนที่จะมีการเปลี่ยนแปลง เลขที่ประจำบ้านดังกล่าว บริษัทฯ จึงขีดฆ่าที่อยู่เดิมและระบุที่อยู่ใหม่ที่ถูกต้องพร้อมกับลงลายมือชื่อกำกับ

แต่ลูกค้าแจ้งว่า ใบกำกับภาษีดังกล่าวมีการแก้ไขที่ไม่ถูกต้อง จึงขอให้บริษัทฯ ออกใบกำกับภาษีใหม่ บริษัทฯ จึงหารือว่า บริษัทฯ ปฏิบัติถูก

กรณีสำนักทะเบียนท้องถิ่นเขตฯ ประกาศเปลี่ยนแปลงเลขหมายประจำบ้าน ทำให้ที่อยู่ของผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษี มูลค่าเพิ่มเปลี่ยนแปลงไป

ผู้ประกอบการจดทะเบียนสามารถแก้ไขที่อยู่ในใบกำกับภาษีที่เหลืออยู่ ให้ถูกต้อง ตามที่ทางราชการ ประกาศเปลี่ยนแปลงได้ พร้อมกับลงลายมือชื่อผู้ออกใบกำกับภาษีกำกับการแก้ไขหรือประทับตรายางที่อยู่ที่ถูกต้องเพิ่มเติมใน ใบกำกับภาษี

ทั้งนี้ เฉพาะใบกำกับภาษีที่ได้ออกในช่วงระยะเวลาไม่เกิน 1 ปีนับแต่วันที่ทางราชการได้ประกาศเปลี่ยนแปลงเลขที่ บ้าน

ซึ่งผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ได้รับใบกำกับภาษีดังกล่าวมีสิทธินำไปถือเป็นภาษีซื้อหักออกจากภาษีขายในการคำนวณภาษี มูลค่าเพิ่มได้ ตามมาตรา 82/3 แห่งประมวลรัษฎากร และไม่เข้าลักษณะเป็นภาษีซื้อต้องห้าม ตามมาตรา 82/5(6) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ 2(10) ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 42) เรื่อง การกำหนดภาษีซื้อ ที่ไม่ให้นำไปหักในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 82/5(6) แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2535 ต้อง หรือไม่

กิจการย้ายที่อยู่ แต่ใบกำกับภาษีที่ได้รับยังออกที่อยู่เดิม สามารถนำมาขอคืนภาษีซื้อได้หรือไม่

ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีขออนุโลมใช้ใบกำกับภาษีที่มีชื่อและที่อยู่ไม่ตรงตามที่ได้จดทะเบียนไว้ใน แบบ ภ.พ.09

สรุป ไม่ได้ถ้ายังออกที่อยู่เดิ่มไม่สามารถใช้ขอคืนภาษีซื้อได้ ต้องแจ้งให้ผู้ออกทำการเปลี่ยนแปลง ตามหัวข้อการยกเลิกใบกำกับภาษีเดิม แล้วออกฉบับใหม่ ทำอย่างไร

เลขที่หนังสือกค 0706/พ./7836

บริษัทฯ เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ต่อมาบริษัทฯ ได้ยื่นแบบ ภ.พ.09 ณ สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขารวม 2 ครั้ง ครั้งแรกเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2547 แจ้งย้ายที่อยู่ตั้งแต่ วันที่ 22 มีนาคม 2547

ต่อมาบริษัทฯ ได้มีหนังสือลงวันที่ 26 เมษายน 2547 ถึง สำนักงาน สรรพากรภาคแจ้งว่า หน่วยงานของรัฐบาล รัฐวิสาหกิจ และเอกชนหลายหน่วยงานไม่สามารถ เปลี่ยนแปลงชื่อ ที่อยู่ ของบริษัทฯ ให้เป็นไปตามชื่อ ที่อยู่ ที่ได้แจ้งเปลี่ยนแปลงในแบบ ภ.พ.09 ได้ทัน ใบกำกับภาษีที่ได้รับจึงยังคงเป็นชื่อและที่อยู่เดิม บริษัทฯ จึงขออนุโลมใช้ใบกำกับภาษีดังกล่าว เป็น หลักฐานการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มภาษี

1. บริษัทฯ ได้แจ้งการเปลี่ยนแปลงที่อยู่ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2547 และขอเปลี่ยนชื่อบริษัทฯ ตั้งแต่วันที่ 22 มีนาคม 2547 โดยบริษัทฯ ได้ยื่นแบบ ภ.พ.09 ต่อสำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขา ซึ่งเป็น หน่วยงานรับจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว ดังนั้น หลังจากวันที่บริษัทฯ แจ้งเปลี่ยนแปลงชื่อและที่อยู่แล้ว เมื่อผู้ขายสินค้าหรือผู้ให้บริการออกใบกำกับภาษีให้แก่บริษัทฯ ก็ต้องระบุชื่อและที่อยู่ ของบริษัทฯ ตามที่ได้ แก้ไขเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม หากระบุชื่อและที่อยู่เดิมของบริษัทฯ ถือเป็นใบกำกับภาษีที่ ระบุชื่อที่อยู่ของผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการไม่ถูกต้องครบถ้วนตามที่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มตามาตรา
86/4(3) แห่งประมวลรัษฎากร

บริษัทฯ ไม่มีสิทธินำใบกำกับภาษีดังกล่าวไปถือเป็นภาษีซื้อในการคำนวณ ภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 82/3 แห่งประมวลรัษฎากร เนื่องจากเป็นใบกำกับภาษีที่มีข้อความไม่ถูกต้อง หรือไม่สมบูรณ์ ในส่วนที่เป็นสาระสำคัญต้องห้ามตามมาตรา 82/5(2) ผู้ออกใบกำกับภาษีต้องรับผิดตาม มาตรา 90(12) แห่งประมวลรัษฎากร

แนวทางแก้ไขโดย

2. บริษัทฯ ต้องร้องขอให้ผู้ออกใบกำกับภาษีดำเนินการยกเลิกใบกำกับภาษีฉบับเดิมและ จัดทำใบกำกับภาษีฉบับใหม่ โดยให้ระบุชื่อบริษัทฯ และที่อยู่ให้ถูกต้อง

บริษัทฯ จึงจะมีสิทธินำไปถือเป็น ภาษีซื้อในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มได้ ซึ่งการยกเลิกใบกำกับภาษีฉบับเดิมและจัดทำใบกำกับภาษีฉบับใหม่ สามารถดำเนินการได้ดังนี้

2.1 ให้บริษัทฯ ถ่ายเอกสารใบกำกับภาษีฉบับเดิมที่ขอยกเลิกติดเรื่องไว้และส่งมอบ ใบกำกับภาษีฉบับเดิมให้แก่ผู้ออกใบกำกับภาษี

2.2 ให้ผู้ออกใบกำกับภาษีนำใบกำกับภาษีฉบับเดิมมาประทับตราว่า “ยกเลิก” หรือ “ขีดฆ่า” แล้วเก็บรวบรวมไว้กับสำเนาใบกำกับภาษีฉบับเดิมและจัดทำใบกำกับภาษีฉบับใหม่ ซึ่งเป็นเลขที่ ใหม่และจะต้องลงวัน เดือน ปี ให้ตรงกับวัน เดือน ปี ตามใบกำกับภาษีฉบับเดิมพร้อมทั้งหมายเหตุไว้ใน ใบกำกับภาษีฉบับใหม่ว่า “เป็นการยกเลิกและออกใบกำกับภาษีฉบับใหม่แทนฉบับเดิมเลขที่….. เล่มที่ …..”

2.3 ให้ผู้ออกใบกำกับภาษีฉบับใหม่ หมายเหตุการยกเลิกใบกำกับภาษีไว้ใน รายงานภาษีขายของเดือนภาษีที่จัดทำใบกำกับภาษีฉบับใหม่ด้วย

ใบแทนใบกำกับภาษีออกอย่างไร ออกเมื่อไหร่

ใบกำกับภาษีที่ส่งมอบไปแล้ว ทางลูกค้าร้องขอให้ออกฉบับใหม่กิจการควรทำอย่างไร

  1. กรณีไม่มีต้นฉบับส่งคืน ควรให้ลูกค้าแจ้งความว่าทำเอกสารสูญหาย
  2. กรณีมีการจัดส่งต้นฉบับคืนเพื่อขอให้ออกฉบับใหม่ เช่น ฉบับเดิมถูกทำลาย ฉีกขาด กิจการต้องเก็บซากเอกสารไว้เป็นหลักฐานประกอบการอ้างอิงสาเหตุในการออกฉบับใหม่ด้วย

ขั้นตอนการออกเอกสารใบแทนใบกำกับภาษีดังนี้

การออกใบแทน ใบกำกับภาษี ใบเพิ่มหนี้ ใบลดหนี้ แล้วแต่กรณี โดยถ่ายเอกสารสำเนาใบที่ผู้ซื้อร้องขอ แล้วบันทึกข้อความเหล่านี้ไว้ในภาพถ่าย หรือด้านหลังของภาพถ่ายสำเนาใบแทน พร้อมระบุข้อความดังนี้

1.   ถ่ายสำเนาใบกำกับภาษี สำเนาใบเพิ่มหนี้ หรือสำเนาใบลดหนี้ และให้บันทึกรายการดังนี้ลงในภาพถ่ายหรือด้านหลังของภาพถ่ายดังกล่าว
             (1)   ใบแทนออกให้ครั้งที่
             (2)   วัน เดือน ปี ที่ออกใบแทน
             (3)   คำอธิบายย่อ ๆ ถึงสาเหตุที่ออกใบแทน
             (4)   ลงลายมือชื่อของผู้ออกใบแทน
       2.   ให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนซึ่งออกใบแทนตาม 1. บันทึกรายการตาม (1) – (4) ไว้ด้านหลังสำเนาใบกำกับภาษี สำเนาใบเพิ่มหนี้ หรือสำเนาใบลดหนี้ด้วย
       3.   ให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ออกใบแทนใบกำกับภาษี ใบแทนใบเพิ่มหนี้ ใบแทนใบลดหนี้ บันทึกรายการการออกใบแทน ในรายงานภาษีขายในเดือนที่มีการออกใบแทน โดยระบุชื่อผู้ซื้อ เลขที่/เล่มที่ วันที่ของใบกำกับภาษี ใบเพิ่มหนี้ หรือใบลดหนี้ ที่ได้มีการออกใบแทน ( อ้างถึง ม.86/12 แห่งประมวลรัษฎากร และประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 36)ฯ ลงวันที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2535)clear-gif

กิจการต้องดำเนินการออกใบแทนอย่างเคร่งครัดเพราะการกระทำที่ไม่ถูกต้องใบกำกับภาษีที่ออกให้อาจถูกวินิจฉัยว่าเป็นใบกำกับภาษีปลอมได้

ใบกำกับภาษีตัวจริงค่ะว่าสามารถประทับตรา "จ่ายเงินแล้ว" หมึกสีแดง สามารถขอคืนภาษีซื้อได้หรือไม่

Inbox: ศุกร์ที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2561 เวลา 14:09 น.
คุณ Kanya Sae-ngow
อาจารย์ค่ะ รบกวนขอสอบถามนิดนึงค่ะ อยากสอบถามเรื่องใบกำกับภาษีตัวจริงค่ะว่าสามารถประทับตรา “จ่ายเงินแล้ว” หมึกสีแดง ได้หรือไม่ค่ะ รบกวนขอคำชี้แนะด้วยนะคะ

สุเทพ พงษ์พิทักษ์
วิสัชนา:
ใบกำกับภาษีต้นฉบับสามารถประทับตรา “จ่ายเงินแล้ว” หมึกสีแดง ได้ครับ เพราะไม่ได้ทำให้รายการในส่วนที่เป็นสาระสำคัญต้องถูกทำลาย หรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงแต่อย่างใด

ภาษีเงินได้นิติบุคคล และภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการเก็บรักษาบัญชี และเอกสารประกอบการลงบัญชี

เลขที่หนังสือ  กค 0706/4151 20 เมษายน 2550

ข้อหารือ 

บริษัทฯ ประกอบกิจการตั้งแต่ปี 2534 เนื่องจากเอกสารเกี่ยวกับบัญชีในแต่ละรอบระยะเวลาบัญชีของบริษัทฯ มีจำนวนมาก ทำให้บริษัทฯ ประสบปัญหาในการเก็บรักษาเอกสาร บริษัทฯ จึงขอทราบว่า จะต้องเก็บรักษาเอกสารดังกล่าวเป็นระยะเวลาห้าปี ใช่หรือไม่

แนววินิจฉัย

1. การเก็บรักษาเอกสารตามประมวลรัษฎากร ตามมาตรา 87/3 แห่งประมวลรัษฎากร ใ

ห้ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มมีหน้าที่ต้องเก็บและรักษารายงานเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม ใบกำกับภาษี และสำเนาใบกำกับภาษี พร้อมทั้งเอกสารประกอบการรายงานหรือเอกสารอื่นที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนดไว้ ณ สถานประกอบการหรือสถานที่อื่นที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนดเป็นเวลาไม่น้อยกว่าห้าปีนับแต่วันที่ได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีหรือวันทำรายงาน แล้วแต่กรณี

ในกรณีที่เห็นสมควร อธิบดีกรมสรรพากรจะกำหนดให้เก็บและรักษาไว้เกินห้าปีก็ได้ แต่ต้องไม่เกินเจ็ดปี

(เอกสารทางภาษี)

ดังนั้น บริษัทฯ จึงมีหน้าที่จะต้องเก็บและรักษารายงานเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม ใบกำกับภาษี และสำเนาใบกำกับภาษีพร้อมทั้งเอกสารประกอบการรายงานไว้ เป็นเวลาไม่น้อยกว่าห้าปี แต่ไม่เกินเจ็ดปี

        อย่างไรก็ตาม เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจออกหมายเรียกหรือมีอำนาจเรียกเก็บภาษีอากรจากผู้มีหน้าที่ยื่นแบบแสดงรายการภาษีหรือผู้มีหน้าที่นำส่งภาษี ตามมาตรา 23 มาตรา 83/6 และมาตรา 91/16 แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งประมวลรัษฎากร มิได้กำหนดระยะเวลาดำเนินการ เจ้าพนักงานประเมินจึงมีอำนาจออกหมายเรียกหรือประเมินภาษีอากรได้ภายใน 10 ปี ทั้งนี้ ตามมาตรา 193/31 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ผู้มีหน้าที่ยื่นแบบแสดงรายการหรือผู้มีหน้าที่นำส่งภาษี จึงต้องมีเอกสารเกี่ยวกับการประกอบกิจการเพื่อให้เจ้าพนักงานประเมินตรวจสอบในกรณีดังกล่าว

(เอกสารทางบัญชี)

2. สำหรับบัญชีและเอกสารประกอบการลงบัญชี บริษัทฯ มีหน้าที่เก็บรักษาตามพระราชบัญญัติการบัญชี พ.ศ. 2543 ซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงพาณิชย์

ผลต่างอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม เศษ.03 หรือ 0.07 ทีเกิดจากยอดใบวางบิลหลายฉบับรวมกัน

คุณ Puwas Tangkidchaowalit (24 สิงหาคม พ.ศ. 2561 เวลา 10:33 น.)
เรียน อาจารย์ สุเทพ ที่นับถือ

บริษัทฯ ได้ทำการซื้อบริการจากบริษัทคู่ค้า เนื่องจากมีรายการจำนวนมาก ใบแจ้งหนี้ 50 ใบขึ้นไปในการจ่ายแต่ละครั้ง แต่บริษัทคู่ค้าจะออกใบกำกับเพียง 1 ใบ เมื่อได้รับการชำระเงิน

บริษัทคู่ค้าออกใบกำกับโดยเอายอดก่อนภาษีมูลค่าเพิ่มจากใบแจ้งหนี้ 50 ใบมารวมกัน เป็นฐานภาษีในใบกำกับภาษี และเอายอดภาษีมูลค่าเพิ่มจากใบแจ้งหนี้ 50 ใบมารวมเป็นภาษีมูลค่าเพิ่มในใบกำกับภาษี

ทำให้ยอดก่อนภาษีมูลค่าเพิ่มในใบกำกับภาษี คูณ 7% เป็นยอดภาษีมูลค่าเพิ่มที่ผลต่างกับยอดภาษีมูลค่าเพิ่มในใบกำกับภาษี 0.03 บ้าง 0.05 บ้างในกรณีเช่นนี้ รับได้มั้ยครับ

จะแก้ไขยังไงครับ อาจารย์
ขอบพระคุณครับ

สุเทพ พงษ์พิทักษ์

 

วิสัชนา:

ตามข้อ 9 และข้อ 10 ของคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป. 86/2542 ได้วางแนวทาปฏิบัติเกี่ยวกัหลักเกณฑ์การจัดทำใบกำกับภาษีตามมาตรา 86/4 และมาตรา 86/5 แห่งประมวลรัษฎากร กรณีไม่สามารถระบุรายการชื่อ ชนิด ประเภท ปริมาณ และมูลค่าของสินค้าหรือของบริการทั้งหมดในใบกำกับภาษี 1 แผ่น

.ข้อ 10 ผู้ประกอบการจดทะเบียนซึ่งได้รับใบกำกับภาษี โดยภาษีมูลค่าเพิ่มตามใบกำกับภาษีมีจำนวนมากกว่าหรือมีจำนวนน้อยกว่าภาษีมูลค่าเพิ่มที่คำนวณจากมูลค่าของสินค้าหรือของบริการคูณด้วยอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มหารด้วยหนึ่งร้อย อันเนื่องมาจากการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มมีเศษเป็นจุดทศนิยม ให้ถือปฏิบัติดังนี้

……..(ก) ถ้าภาษีมูลค่าเพิ่มตามใบกำกับภาษีมีจำนวนมากกว่าภาษีมูลค่าเพิ่มที่คำนวณจากมูลค่าของสินค้าหรือของบริการคูณด้วยอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มหารด้วยหนึ่งร้อย ผู้ประกอบการจดทะเบียนมีสิทธินำภาษีมูลค่าเพิ่มที่คำนวณจากมูลค่าของสินค้าหรือของบริการคูณด้วยอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มหารด้วยหนึ่งร้อย ไปถือเป็นภาษีซื้อในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม

……..(ข) ถ้าภาษีมูลค่าเพิ่มตามใบกำกับภาษีมีจำนวนน้อยกว่าภาษีมูลค่าเพิ่มที่คำนวณจากมูลค่าของสินค้าหรือของบริการคูณด้วยอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มหารด้วยหนึ่งร้อย ผู้ประกอบการจดทะเบียนมีสิทธินำภาษีมูลค่าเพิ่มตามใบกำกับภาษีไปถือเป็นภาษีซื้อในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม

……..กรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนได้รับใบกำกับภาษี โดยภาษีมูลค่าเพิ่มตามใบกำกับภาษีมีจำนวนมากกว่าหรือมีจำนวนน้อยกว่าภาษีมูลค่าเพิ่มที่คำนวณจากมูลค่าของสินค้าหรือของบริการคูณด้วยอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มหารด้วยหนึ่งร้อย ซึ่งไม่ใช่การคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มมีเศษเป็นจุดทศนิยม ผู้ประกอบการจดทะเบียนไม่มีสิทธินำใบกำกับภาษีไปถือเป็นภาษีซื้อ จะต้องให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนที่จัดทำใบกำกับภาษีดำเนินการยกเลิกใบกำกับภาษีฉบับเดิมและจัดทำใบกำกับภาษีฉบับใหม่ที่ถูกต้อง จึงจะนำไปถือเป็นภาษีซื้อในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มได้”

ดังนั้น กรณีบริษัทฯ รับบริการจากบริษัทคู่ค้า เนื่องจากมีรายการจำนวนมาก ใบแจ้งหนี้ 50 ใบขึ้นไปในการจ่ายแต่ละครั้ง แต่บริษัทคู่ค้าจะออกใบกำกับเพียง 1 ใบ เมื่อได้รับการชำระเงิน บริษัทคู่ค้าออกใบกำกับโดยเอายอดก่อนภาษีมูลค่าเพิ่มจากใบแจ้งหนี้ 50 ใบมารวมกัน เป็นฐานภาษีในใบกำกับภาษี และเอายอดภาษีมูลค่าเพิ่มจากใบแจ้งหนี้ 50 ใบมารวมเป็นภาษีมูลค่าเพิ่มในใบกำกับภาษี

ทำให้ยอดก่อนภาษีมูลค่าเพิ่มในใบกำกับภาษี คูณ 7% เป็นยอดภาษีมูลค่าเพิ่มที่ผลต่างกับยอดภาษีมูลค่าเพิ่มในใบกำกับภาษี 0.03 บ้าง 0.05 บ้าง นั้น

ในกรณีเช่นนี้ ถือได้ว่า ไม่มีนัยสำคัญ และควรใส่รายละเอียดเพิ่มเติมในใบกำกับภาษีว่า อ้างถึงใบแจ้งหนี้ เลขที่เท่าใดถึงเลขที่เท่าใด

ใบกำกับภาษี ออกเป็นชุด

Inbox: จันทร์ที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2562 เวลา 17:31 น.
คุณ Rachata Siriphattharakun

อาจารย์ครับ กรณีไม่ได้ใบกำกับภาษีตัวจริง เราสามารถใช้ สำเนาใบกำกับภาษี ที่เป็นสำเนา สำหรับเอกสารที่ออกเป็นชุดได้ แต่ในกรณีที่มีข้อความว่า     “ไม่ใช่ใบกำกับภาษี เอกสารออกเป็นชุด”    แบบนี้ถือว่าเป็นภาษีซื้อต้องห้ามหรือไม่ครับ

สุเทพ พงษ์พิทักษ์
วิสัชนา:

ตามข้อ 1 ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 39) แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 182) ใช้บังคับ วันที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2554 เป็นต้นไป อธิบดีกรมสรรพากรอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 86/4(8) แห่งประมวลรัษฎากร กำหนดข้อความอื่นในใบกำกับภาษีตามมาตรา 86/4 (8) แห่งประมวลรัษฎากร ในส่วนที่เกี่ยวกับ “เอกสารออกเป็นชุด” ดังนี้

….“ข้อ 1 ในกรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนประสงค์จะจัดทำใบกำกับภาษีตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากร รวมกับเอกสารทางการค้าอื่น เช่น ใบเสร็จรับเงิน ใบส่งของ ใบแจ้งหนี้ ซึ่งมีจำนวนหลายฉบับอยู่ในชุดเดียวกัน และใบกำกับภาษีมิใช่เอกสารฉบับแรกของเอกสารดังกล่าว ให้ปฏิบัติดังต่อไปนี้

……..(1) ในใบกำกับภาษีและสำเนาใบกำกับภาษีของเอกสารชุดดังกล่าว จะต้องมีข้อความว่า “เอกสารออกเป็นชุด” ไว้ด้วย

……..(2) ในสำเนาของใบกำกับภาษี จะต้องมีข้อความว่า “สำเนาใบกำกับภาษี” ไว้ด้วย

……..ข้อความว่า “เอกสารออกเป็นชุด” และ “สำเนาใบกำกับภาษี” ตามวรรคหนึ่ง จะต้องตีพิมพ์ขึ้นหรือจัดทำขึ้นด้วยระบบคอมพิวเตอร์ในกรณีจัดทำใบกำกับภาษีขึ้นด้วยระบบคอมพิวเตอร์ ทั้งฉบับ จะประทับด้วยตรายาง เขียนด้วยหมึก พิมพ์ดีด หรือกระทำให้ปรากฏขึ้นด้วยวิธีการอื่นในลักษณะทำนองเดียวกันไม่ได้”

ดังนั้น กรณีบริษทฯ ได้รับใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งผู้ขายสินค้าหรือผู้ให้บริการได้จัดทำรวมกับเอกสารทางการค้าอื่น เช่น ใบเสร็จรับเงิน ใบส่งของ ใบแจ้งหนี้ ซึ่งมีจำนวนหลายฉบับอยู่ในชุดเดียวกัน และใบกำกับภาษีมิใช่เอกสารฉบับแรกของเอกสารดังกล่าว ใบกำกับภาษีที่จะสามารถนำภาษีมูลค่าเพิ่มไปใช้เป็นภาษีซื้อได้ต้องเป็น

             “ใบกำกับภาษี” และมีข้อความว่า “เอกสารออกเป็นชุด”

หากบริษัทฯ ไม่ได้รับใบกำกับภาษีฉบับด้งกล่าว เช่น มีข้อความว่า “ใบแจ้งหนี้/สำเนาใบกำกับภาษี/สำเนาใบส่งสินค้า” รวมทั้งมีข้อความ “ไม่ใช่ใบกำกับภาษี เอกสารออกเป็นชุด” เช่นนี้

ถือว่าเป็นภาษีซื้อต้องห้ามตามมาตรา 82/5 (6) แห่งประมวลรัษฎากร

บริษัทฯ สามารถนำภาษีซื้อไปถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิตามมาตรา 65 ตรี (6 ทวิ) แห่งประมวลรัษากร ได้

ปลี่ยนแบบฟอร์มใบกำกับภาษีใหม่

คุณ Jarintorn Sakboatong‎ (27 มิถุนายน พ.ศ. 2562 เวลา 16:14 น.)
สอบถามคะอาจารย์

พอดีใบกำกับภาษีที่สั่งพิมพ์จากโรงพิมพ์หมด จึงเปลี่ยนเป็นพิมพ์จากคอมแทน อยากทราบว่าต้องแจ้งสรรพากรไหมคะว่าเราเปลี่ยนแบบฟอร์มใบกำกับภาษีใหม่ ขอบคุณล่วงหน้าคะอาจารย์

สุเทพ พงษ์พิทักษ์
วิสัชนา:

บริษัทฯ มีอิสระในการจัดทำใบกำกับภาษีทั้งกรณีใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปตามมาตรา 86/4 และใบกำกับภาษีอย่างย่อตามมาตรา 86/6 แห่งประมวลรัษฎากร ด้วยระบบคอมพิวเตอร์ โดยไม่ต้องได้รับอนุมัติจากอธิบดีกรมสรรพากร แต่อย่างใด เนื่องจากไม่มีข้อกฎหมายใดๆ กำหนดให้ต้องแจ้งหรือขออนุมัติต่อกรมสรรพากร
อนึ่ง ไม่พึงสับสนกับการขออนุมัติใช้เครื่องบันทึกการเก็บเงิน (Cash Register) เพื่อการออกใบกำกับภาษีอย่างย่อตามมาตรา 86/6 แห่งประมวลรัษฎากร

 

ใบกำกับภาษีปลอม คือ 

 

 Taxinvoice-accounting

ใบกำกับภาษีปลอมในทางแพ่ง หมายถึง ใบกำกับภาษีที่ถูกผู้อื่นปลอมขึ้น และกฎหมายยังให้ความหมายรวมถึงในกรณีใบกำกับภาษีที่ผู้รับประโยชน์ไม่สามารถนำพิสูจน์ได้ว่า บุคคลใดเป็นผู้ออกใบกำกับภาษี กฎหมายให้ถือว่าเป็น ใบกำกับภาษีปลอม  – ตามความเข้าใจคือ ตอบพี่ๆ สรรพากรไม่ได้ว่าเอกสารนี้ไปเอามาจากไหน ใครเป็นคนออก หรือว่า ซื้อเอาไว้ใช้ทำอะไร

 

 Taxinvoice-accounting

ใบกำกับภาษีปลอมในทางอาญา หมายถึง ใบกำกับภาษี ที่ผู้อื่นทำปลอมขึ้น โดยการปลอมทั้งฉบับ หรือ แต่ส่วนหนึ่งส่วนใด เติม หรือ ตัดทอนข้อความ หรือแก้ไขด้วยประการใดๆในใบกำกับภาษีที่แท้จริง ประทับตราปลอม หรือลงลายมือชื่อปลอมในใบกำกับภาษี – ถึงจะเป็นเอกสารจริงทุกอย่างแต่มีแก้ไขโดยไม่ถูกต้องก็จัดว่าเป็นใบกำกับปลอม

 

มาตรา 89 (7) - ทางแพ่ง

เบี้ยปรับสองเท่าจำนวนภาษี

ทางแพ่ง ใบกำกับภาษีปลอมคือ 

⊗ ใบกำกับภาษีที่ถูกผู้อื่นปลอมขึ้น

⊗ ใบกำกับภาษีที่ไม่สามารถนำพิสูจน์ได้ว่า บุคคลใดเป็นผู้ออกใบกำกับภาษี

มาตรา 90/4 - ทางอาญา

จำคุกตั้งแต่สามเดือนถึงเจ็ดปีและปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงสองแสนบาท

ทางอาญา  ใบกำกับภาษีปลอมคือ 

⊗ ใบกำกับภาษีที่ถูกผู้อื่นปลอมขึ้นทั้งฉบับหรือส่วนหนึ่งส่วนใด

⊗ ใบกำกับภาษีที่แท้จริง แต่แก้ไขเช่น ประทับตราปลอม ลงลายมือชื่อปลอม

ใบกำกับภาษีที่ออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ใบกำกับภาษีที่ออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย คือ        1. ใบกำกับภาษีปลอม   หรือ 2 ใบกำกับภาษีที่ออกโดยไม่มีสิทธิออก 

1. ผู้ประกอบการ VAT ถูกต้อง แต่ไม่มีรายการค้าหรือบริการเกิดจริง    :   ใบกำกับภาษี ที่ออกโดยผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ได้ออกใบกำกับภาษีโดยไม่มีการขายสินค้าจริง หรือ เป็นการขายใบกำกับอันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 77(8) มาตรา78 และ มาตร 86 แห่งประมวลรัษฎากร – 

2. ผู้ประกอบการ VAT ถูกต้อง แต่ไม่จัดทำสำเนาเก็บไว้  : ใบกำกับภาษี ที่ออกโดยผู้ประกอบการจดทะเบียน แต่ผู้ประกอบการจดทะเบียนไม่ได้จัดทำสำเนา ใบกำกับภาษี ตามบทบัญญัติในมาตรา 86 แห่งประมวลรัษฎากร หรือ เป็นกรณีที่เป็นการภาษีมูลค่าเพิ่ม โดย – 

3. ไม่ได้เป็นผู้ประกอบการ VAT ที่ถูกต้อง : ใบกำกับภาษี ที่ออกโดยผู้ประกอบการซึ่งไม่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม  – 

ใบกำกับภาษีที่ออกโดยไม่มีสิทธิออกตามกฎหมาย

ภาษีซื้อตามใบกำกับภาษีที่จะนำมาคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มได้ผู้ออกจะต้องเป็นผู้มีสิทธิออกใบกำกับภาษี

ใบกำกับภาษี ที่ออกโดยบุคคลซึ่งไม่มีสิทธิออกใบกำกับภาษีได้แก่บุคคลดังต่อไปนี้

 

  1. บุคคลซึ่งมิใช่ผู้ประกอบการจดทะเบียน (มาตรา 86/13)
  2. ผู้ประกอบการจดทะเบียนที่อยู่นอกราชอาณาจักร และได้ให้ตัวแทนออกใบกำกับภาษีแทนตามมาตรา 86/2 (ตัวแทนออกใบกำกับภาษี ในนามของผู้ประกอบการจดทะเบียน) (มาตรา 86/1(1))
  3. ผู้ประกอบการที่ทรัพย์สินถูกนำออกมาขายทอดตลาดหรือขายโดยวิธีอื่นโดยบุคคลอื่นตามมาตรา 83/5(การนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มจากการขายทอดตลาด) (มาตรา 86/1(2)
  4. ผู้ประกอบการจดทะเบียนตามที่กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกาที่ออกตามประมวลรัษฎากร มาตรา 83/6(3)
  5. ผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ไม่ได้ขายสินค้าหรือให้บริการแต่ได้ออกใบกำกับภาษี

ผู้ออกใบกำกับภาษี โทษและความผิดกรณีใบกำกับปลอม หรือ ออกไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือไม่มีสิทธิออก

เบี้ยปรับ

สองเท่าของจำนวนภาษี ตามใบกำกับภาษี (มาตรา89(7))

เงินเพิ่ม

เงินเพิ่มร้อยละ1.5 ต่อเดือนหรือเศษของเดือนของจำนวนเงินภาษี (มาตรา 89/1)

ความรับผิดทางอาญา

โทษจำคุกตั้งแต่ 3เดือนถึง 7ปี และปรับตั้งแต่ 2,000 ถึง 200,000 บาท

ผู้ใช้ใบกำกับภาษี โทษและความผิดกรณีใบกำกับปลอม หรือ ออกไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือไม่มีสิทธิออก

เบี้ยปรับ

สองเท่าของจำนวนภาษี ตามใบกำกับภาษี (มาตรา89(7))

ความผิดยื่นภาษีคลาดเคลื่อน

เสียเบี้ยปรับ 1 เท่า ฐานยื่นภาษีไว้เกิน (มาตรา 89(4))และเสียภาษีไว้คลาดเคลื่อน (มาตรา 89(3))

เงินเพิ่ม

เงินเพิ่มร้อยละ1.5 ต่อเดือนหรือเศษของเดือนของจำนวนเงินภาษี (มาตรา 89/1)

ความรับผิดทางอาญา

โทษจำคุกตั้งแต่ 3เดือนถึง 7ปี และปรับตั้งแต่ 2,000 ถึง 200,000 บาท

11 ปัจจัยบ่งชี้ว่ามีแนวโน้มที่จะออก/ใช้ใบกำกับภาษีปลอม

ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีขอหารือเกี่ยวกับการเป็นผู้ออกและใช้ใบกำกับภาษีโดยมิชอบด้วยกฎหมาย

เลขที่หนังสือ: กค 0702/2805
วันที่: 4 เมษายน 2555
เรื่อง: ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีขอหารือเกี่ยวกับการเป็นผู้ออกและใช้ใบกำกับภาษีโดยมิชอบด้วยกฎหมาย
ข้อกฎหมาย: มาตรา 82/5(5) มาตรา 86 มาตรา 89(6) และมาตรา 90/4(3) แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ          1. บริษัทฯ นำใบกำกับภาษีซื้อที่ออกโดยผู้ประกอบการที่ไม่ได้มีการประกอบกิจการจริง ไปใช้ในการเครดิต ภาษีและบริษัทฯ ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่า บุคคลใดเป็นผู้ออกใบกำกับ ใบกำกับภาษีซื้อดังกล่าวถือว่าเป็นใบกำกับภาษี ที่ออกโดยมิชอบด้วยกฎหมาย           2. บริษัทฯ ออกใบกำกับภาษีขาย โดยไม่มีการซื้อสินค้าจากบริษัทฯ และไม่มีการนำใบกำกับภาษีไปใช้เครดิตภาษี แต่บริษัทฯ ได้นำมูลค่าในใบกำกับภาษีนั้นไปเป็นฐานในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม การกระทำของบริษัทฯ เป็นกรณี กระทำความผิดและมีโทษในทางแพ่งและทางอาญา
แนววินิจฉัย          1. กรณีเจ้าพนักงานสรรพากรได้สอบยันใบกำกับภาษีซื้อของบริษัทฯ แล้วพบว่า บริษัทฯ นำใบกำกับภาษีซื้อ ที่ออกโดยบริษัท ธ. ซึ่งสำนักงานสรรพากรพื้นที่กรุงเทพมหานคร ได้มีหนังสือลงวันที่ 6 ตุลาคม 2553 แจ้งว่า บริษัท ธ. ไม่มีการประกอบกิจการใดๆ และมีพฤติการณ์เป็นผู้ออกใบกำกับภาษีขายโดยมิชอบด้วยกฎหมาย และสำนักงาน- สรรพากรพื้นที่ปทุมธานี ได้มีหนังสือลงวันที่ 5 พฤศจิกายน 2553 แจ้งว่า บริษัท อ. มีพฤติการณ์เป็นผู้ออกใบกำกับภาษี โดยมิชอบด้วยกฎหมาย ออกใบกำกับภาษีขายโดยไม่มีการซื้อ – ขายสินค้าจริง ดังนั้นกรณีบริษัทฯ นำใบกำกับภาษีของ บริษัททั้งสองรายดังกล่าวไปถือเป็นภาษีซื้อในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 82/3 แห่งประมวลรัษฎากร โดยไม่ สามารถพิสูจน์ได้ว่ามีการซื้อสินค้าและมีการชำระเงินค่าสินค้าจริง บริษัทฯ ต้องรับผิดชำระภาษีพร้อมเบี้ยปรับตามมาตรา 89(3)(4) และ(7) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป.81/2542 เรื่อง การคำนวณเบี้ยปรับหรือ เงินเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 89 และมาตรา 89/1 แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 24 มกราคม พ.ศ.2542 และต้อง เสียเงินเพิ่มอีกร้อยละ 1.5 ต่อเดือน หรือเศษของเดือนของเงินภาษีที่ต้องชำระตามมาตรา 89/1 แห่งประมวลรัษฎากร และมีความผิดอาญาตามมาตรา 90/4(7) แห่งประมวลรัษฎากร           2. กรณีบริษัทฯ ออกใบกำกับภาษีขายโดยไม่มีการซื้อสินค้าจากบริษัทฯ จริง และบริษัทฯ ได้นำมูลค่าใน ใบกำกับภาษีขายนั้นไปเป็นฐานในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม ถือว่าบริษัทฯ เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนออกใบกำกับภาษี โดยไม่มีสิทธิที่จะออกตามกฎหมายตามมาตรา 86/13 แห่งประมวลรัษฎากร ต้องเสียเบี้ยปรับสองเท่าของจำนวนภาษีตาม ใบกำกับภาษีตามมาตรา 89 (6) แห่งประมวลรัษฎากร และเป็นความผิดอาญาตามมาตรา 90/4 (3) แห่งประมวลรัษฎากร           3. กรณีการกระทำความผิดตาม 1. และ 2. กรรมการผู้จัดการ ผู้จัดการ หรือผู้แทนของนิติบุคคลนั้น ต้องรับโทษที่ บัญญัติไว้สำหรับความผิดนั้นๆ ด้วย เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าตนมิได้ยินยอมหรือมีส่วนในการกระทำความผิดของนิติบุคคลนั้น ตามมาตรา 90/5 แห่งประมวลรัษฎากร
เลขตู้: 75/38087

กิจการพบใบกำกับภาษีปลอมเอง แก้ไขอย่างไร

คุณ Sumalee Sang (22 มิถุนายน 2558 เวลา 10:13 น.) 
ปุจฉา: อาจารย์คะ ขอสอบถามเกี่ยวกับใบกำกับปลอมคะ
1. หากพบว่าเป็นผู้ใช้ใบกำกับปลอมสามารถของดเบี้ยปรับปรับได้หรือไม่คะ
2. อายุความประเมินของเจ้าพนักงานกรณีใช้ใบกำกับปลอมกี่ปีคะ
ขอบคุณมากคะ

สุเทพ พงษ์พิทักษ์
วิสัชนา: 
กรณีผู้ประกอบการพบว่าตนเอง “เป็นผู้ใช้ภาษีซื้อที่ไม่ถูกต้อง” ไม่ว่าจะเกิดจากใบกำกับภาษีปลอม หรือใบกำกับภาษีมีข้อความไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ หรือเพราะเหตุอื่น ให้ดำเนินการดังนี้ 
1. กรณีที่เป็นใบกำกับภาษีปลอม 
1.1 ให้แก้ไขรายงานภาษีซื้อ โดยนำในกำกับภาษีดังกล่าวออกไป และถอนรายการที่เป็นต้นทุนหรือค่าใช้จ่ายออกด้วย เพราะเป็นรายการที่ไม่มีการจ่ายจริง 
1.2 ยื่นแบบ ภ.พ.30 เพื่อชำระภาษีมูลค่าเพิ่ม พร้อมทั้งเบี้ยปรับตามมาตรา 89 (3) และ (4) แห่งประมวลรัษฎากร (ไม่ใช่เบี้ยปรับตามมาตรา 89 (6) แห่งประมวลรัษฎากร – กรณีใช้ใบกำกับภาษีปลอม) หรือลดยอดเครดิตภาษี แล้วแต่กรณี พร้อมทั้งยื่นแบบ ภ.ง.ด.50 ลดต้นทุนหรือค่าใช้จ่าย พร้อมทั้งชำระภาษีเงินได้นิติบุคคล (ถ้ามี) 
1.3 กรณีภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป. 81/2542 ให้ถือว่า แบบแสดงรายการถือเป็นคำร้องขอลดเบี้ยปรับโดยอัตโนมัติ กรณีที่ประสงค์จะของดให้จัดทำคำร้องเป็นหนังสือแสดงเหตุผลความจำเป็นในการของดเบี้ยปรับ ซึ่งประกอบด้วย 
(1) ไม่มีเจตนาที่จะหลีกเลี่ยงภาษี และ
(2) ให้ความร่วมมือแก่ทางราชการด้วยดี 
1.4 อายุความประเมินภาษีมูลค่าเพิ่ม เป็นไปตามมาตรา 88/6 แห่งประมวลรัษฎากร ตั้งแต่ 2 ปี 5 ปี – สำหรับกรณีทั่วไป และ 10 ปี – สำหรับกรณีไม่ยื่นแบบแสดงรายการ หรือแสดงมูลค่าของฐานภาษีขาดไปเกิน 25% แล้วแต่กรณี
2. กรณีใบกำกับภาษีที่ไม่สมบูรณ์ 
ให้ทำการยกเลิกและออกใบกำกับภาษีฉบับใหม่แทนฉบับเดิม ตามข้อ 24 และข้อ 25 ของคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป. 86/2542

ภาษีมูลค่าเพิ่ม การประเมินภาษีกรณีใช้ใบกำกับภาษีปลอม

เลขที่หนังสือ

: กค 0811/พ.14516

วันที่

: 21 ตุลาคม 2540

เรื่อง

: ภาษีมูลค่าเพิ่ม การประเมินภาษีกรณีใช้ใบกำกับภาษีปลอม

ข้อกฎหมาย

: ประเด็นปัญหา

ข้อหารือ

: เจ้าพนักงานประเมินฯ ได้ทำการตรวจสอบพบว่าห้างฯ ได้นำใบกำกับภาษีปลอมมาใช้เครดิตภาษีซื้อ จึงทำการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่ม พร้อมเบี้ยปรับ 3 เท่า ของเงินภาษีและเงินเพิ่มร้อยละ 1.5 ต่อเดือน ห้างฯ จึงขอให้พิจารณาทบทวนการประเมินภาษีของกรมสรรพากร โดย
    1. ขอให้งดเบี้ยปรับ 3 เท่า ของตัวภาษี คงให้ชำระเฉพาะตัวภาษี 7% และเงินเพิ่ม1.5%
    2. ขอผ่อนชำระค่าภาษีที่ถูกประเมิน โดยขอแบ่งผ่อนชำระเป็นงวดได้
    3. ให้ใช้ใบกำกับภาษีส่วนนี้เป็นค่าใช้จ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิ เนื่องจากห้างฯ ได้ซื้อ
สินค้านั้นจริง

แนววินิจฉัย 

:   1. กรณีการนำใบกำกับภาษีปลอมมาใช้คำนวณภาษีซื้อในแบบ ภ.พ.30 เป็นเหตุให้ภาษีที่ต้องเสียและภาษีซื้อในเดือนภาษีนั้นคลาดเคลื่อน ห้างฯ ต้องรับผิดชำระภาษีเพิ่มเติมและเสียเบี้ยปรับอีก 1 เท่า ของภาษีที่คลาดเคลื่อน หรือภาษีซื้อที่แสดงไว้เกินไป ตามมาตรา 89(3) และมาตรา 89(4) และเงินเพิ่มอีกร้อยละ 1.5 ต่อเดือนหรือเศษของเดือนของเงินภาษีที่ต้องชำระ ตามมาตรา 89/1 ทั้งต้องรับผิดเสียเบี้ยปรับอีก 2 เท่าของจำนวนภาษีตามใบกำกับภาษี ตามมาตรา 89(7) แห่งประมวลรัษฎากร
    สำหรับกรณีที่เจ้าพนักงานประเมินได้ตรวจสอบและประเมินภาษีมูลค่าเพิ่ม พร้อมทั้งเบี้ยปรับและเงินเพิ่ม ถ้าห้างฯ ไม่เห็นด้วยกับการประเมินของเจ้าพนักงานฯ ห้างฯ ก็มีสิทธิ์ที่จะคัดค้านการประเมินนั้นได้ โดยการยื่นอุทธรณ์คัดค้านการประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ภายในสามสิบวันนับแต่วันได้รับแจ้งการประเมิน ตามมาตรา 30 แห่งประมวลรัษฎากร
    2. ห้างฯ มีสิทธิ์ขอผ่อนชำระภาษีอากรที่เกิดจากใบแจ้งภาษีอากรได้ ตามข้อ 5 และข้อ 6 แห่งระเบียบกรมสรรพากรว่าด้วยการผ่อนชำระภาษีอากร พ.ศ.2539
    3. ในการพิสูจน์รายจ่ายในทางภาษีเงินได้นิติบุคคล ถ้าห้างฯ พิสูจน์ไม่ได้ว่าใครเป็นผู้รับ
ตามใบกำกับภาษีนั้น จะมีผลให้ใบกำกับภาษีนั้นนำมาเป็นหลักฐานการจ่ายไม่ได้ ตามมาตรา 65 ตรี (18) แห่งประมวลรัษฎากร แต่หากใบกำกับภาษีนั้น ห้างฯพิสูจน์ได้ว่าใครเป็นผู้รับเงิน ใบกำกับภาษีนั้นถือเป็นหลักฐานการจ่ายได้

เลขตู้

: 60/25976

 

ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีใบกำกับภาษีที่พิมพ์ด้วยเครื่องพิมพ์ระบบกระดาษความร้อน

เลขที่หนังสือ

: กค 0706/พ./7761

วันที่

: 6 สิงหาคม 2550

เรื่อง

: ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีใบกำกับภาษีที่พิมพ์ด้วยเครื่องพิมพ์ระบบกระดาษความร้อน

ข้อกฎหมาย

: มาตรา 86/4 มาตรา 82/5 มาตรา 82/3 มาตรา 89(3)(4)(5)(8) และ (9) มาตรา 86 และมาตรา 86/12 แห่งประมวลรัษฎากร

ข้อหารือ

        บริษัท อ. จำกัด ได้รับใบกำกับภาษีจากผู้ประกอบการบางรายซึ่งพิมพ์ด้วยเครื่องพิมพ์ระบบกระดาษความร้อน บริษัทฯ ได้นำภาษีซื้อตามใบกำกับภาษีดังกล่าวไปหักออกจากภาษีขายในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว เมื่อพ้นระยะเวลาประมาณ 5-6 เดือน ได้พบว่า ข้อความในใบกำกับภาษีหมึกพิมพ์เลือน บางฉบับข้อความจางหายไปจนไม่สามารถอ่านข้อความได้ บริษัทฯ จึงขอทราบว่า ปัญหาดังกล่าวจะมีผลต่อการบันทึกรายงานและการจัดเก็บเอกสารทางการบัญชีหรือไม่ ดังนี้
        1. บริษัทฯ ในฐานะผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการจะใช้เอกสารดังกล่าวเป็นหลักฐานในการบันทึกรายงานได้หรือไม่ และต้องปฏิบัติอย่างไรเมื่อพบว่า ไม่สามารถอ่านข้อความได้
        2. บริษัทฯ จะออกใบกำกับภาษีโดยใช้เครื่องพิมพ์ระบบความร้อนดังกล่าวได้หรือไม่ มีวิธีปฏิบัติอย่างไร แตกต่างจากการออกใบกำกับภาษีด้วยกระดาษทั่วไปหรือไม่

แนววินิจฉัย

        1. กรณีบริษัทฯ นำใบกำกับภาษีที่พิมพ์ด้วยระบบกระดาษความร้อนไปใช้เป็นหลักฐานในการเครดิตภาษีหรือส่งมอบให้เจ้าพนักงานประเมินตรวจสอบในขณะที่มีข้อความถูกต้องครบถ้วนตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากร บริษัทฯ มีสิทธินำภาษีซื้อตามใบกำกับภาษีมาหักออกจากภาษีขายในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มได้ ไม่เป็นภาษีซื้อต้องห้ามตามมาตรา 82/5 แห่งประมวลรัษฎากร แต่ถ้าข้อความในใบกำกับภาษีจางหายไปจนไม่สามารถอ่านข้อความได้ย่อมไม่เป็น ใบกำกับภาษีอีกต่อไป บริษัทฯ จะมีความผิดดังนี้
            1.1 ผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการ กรณีไม่สามารถส่งมอบใบกำกับภาษีซื้อให้แก่เจ้าพนักงานประเมินเพื่อตรวจสอบ ถือว่าเป็นกรณีไม่มีใบกำกับภาษีซื้อ หรือไม่อาจแสดงใบกำกับภาษีได้ว่า มีการชำระภาษีซื้อ ผู้ประกอบการจึงไม่มีสิทธินำภาษีซื้อดังกล่าวไปหักออกจากภาษีขายในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 82/3 และมาตรา 82/5(2) แห่งประมวลรัษฎากร ดังนั้น ในการยื่นแบบ ภ.พ.30 จึงถือว่าเป็นกรณียื่นแบบแสดงรายการไว้ไม่ถูกต้อง หรือมีข้อผิดพลาดอันเป็นเหตุให้จำนวนภาษีซื้อในเดือนภาษีที่แสดงไว้คลาดเคลื่อนไป ต้องรับผิดเสียเบี้ยปรับอีกหนึ่งเท่าของจำนวนภาษีซื้อที่แสดงไว้เกินไป และเป็นเหตุให้จำนวนภาษีที่ต้องเสียในเดือนภาษีคลาดเคลื่อนไป จึงต้องรับผิดเสียเบี้ยปรับอีกหนึ่งเท่าของเงินภาษีที่เสียคลาดเคลื่อนและยังมีความผิดในกรณีมิได้เก็บใบกำกับภาษีในกรณีภาษีซื้อที่ใช้เครดิตภาษีในการคำนวณภาษีไว้ตามที่กฎหมายกำหนด ต้องรับผิดเสียเบี้ยปรับอีกร้อยละสองของจำนวนภาษีที่นำมาเครดิต ทั้งนี้ ตามมาตรา 89(3)(4) และ (9) แห่งประมวลรัษฎากร
            1.2 ผู้ขายสินค้าหรือผู้ให้บริการ กรณีไม่สามารถส่งมอบสำเนาใบกำกับภาษีสำหรับภาษีขาย ให้แก่เจ้าพนักงานประเมินเพื่อตรวจสอบ ถือว่า เป็นกรณีผู้ประกอบการมิได้จัดทำใบกำกับภาษีและส่งมอบให้แก่ผู้ซื้อหรือผู้รับบริการ ต้องรับผิดเสียเบี้ยปรับอีกสองเท่าของจำนวนภาษีตามใบกำกับภาษี และกรณีมิได้เก็บสำเนาใบกำกับภาษีสำหรับภาษีขายไว้ตามที่กฎหมายกำหนด ต้องรับผิดเสียเบี้ยปรับอีกร้อยละสองของจำนวนภาษีตามใบกำกับภาษี ทั้งนี้ ตามมาตรา 86 มาตรา 89(5) และ (8) แห่งประมวลรัษฎากร
        2. กรณีใบกำกับภาษีที่พิมพ์ด้วยเครื่องพิมพ์ระบบกระดาษความร้อนและข้อความจางหายไปจนไม่สามารถอ่านได้นั้น ผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการอาจร้องขอให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ออกใบกำกับภาษีออกใบแทนใบกำกับภาษีที่ชำรุดได้ตามมาตรา 86/12 แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับ ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 36) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขเกี่ยวกับการออกใบแทนใบกำกับภาษี ใบแทนใบเพิ่มหนี้ ใบแทนใบลดหนี้ตามมาตรา 86/12 แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2535

เลขตู้

: 70/35188

clear-gif

ใบกำกับภาษีมีข้อมูลแตกต่างจากที่จดทะเบียน แต่ไม่เป็นสาระสำคัญ

เลขที่หนังสือ

: กค 0811/2154

วันที่

: 20 มีนาคม 2543

เรื่อง

: ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการออกใบกำกับภาษีตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากร

ข้อกฎหมาย

: มาตรา 86/4, คำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.86/2542 ฯ

ข้อหารือ

: กรณีบริษัท อ. จำกัด ได้ออกใบกำกับภาษีให้แก่บริษัท จ. (ประเทศไทย) จำกัด ตั้งแต่
เดือนพฤษภาคม 2541 เป็นต้นไป ต่อมาบริษัทฯได้รับแจ้งว่า ชื่อที่ถูกต้องตามที่ได้จดทะเบียน
ภาษีมูลค่าเพิ่มตามแบบ ภ.พ.20 คือ “บริษัท จ. (ไทยแลนด์) จำกัด” จึงหารือว่า คำว่า “
ประเทศไทย” และ “ไทยแลนด์” เป็นสาระสำคัญในใบกำกับภาษีหรือไม่และอนุโลมให้นำใบกำกับภาษี
ดังกล่าวไปถือเป็นภาษีซื้อได้หรือไม่ นอกจากนี้ หากบริษัทฯระบุชื่อลูกค้าโดยมีการเว้นวรรค แสดง
เครื่องหมาย จุด หรือลูกน้ำ ไม่ถูกต้องตามที่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มไว้ ถือเป็นสาระสำคัญหรือไม่
และอนุโลมให้นำใบกำกับภาษีดังกล่าวไปถือเป็นภาษีซื้อได้หรือไม่

แนววินิจฉัย

: 1. กรณีบริษัท อ. จำกัด ออกใบกำกับภาษีให้แก่ลูกค้า ซึ่งมีชื่อตามที่ได้จดทะเบียน
ภาษีมูลค่าเพิ่มตามแบบ ภ.พ.20 ว่า “บริษัท จ. (ไทยแลนด์) จำกัด” แต่บริษัทฯ ได้ระบุชื่อลูกค้าว่า “
บริษัท จ. (ประเทศไทย) จำกัด”ซึ่งเป็นที่เห็นได้อย่างชัดเจนว่าไม่ทำให้เกิดความเข้าใจผิดว่าเป็น
ผู้ประกอบการรายอื่น ทั้งนี้ ตามมาตรา 86/4(3) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ 4(3) ของ
คำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.86/2542 เรื่อง หลักเกณฑ์การจัดทำใบกำกับภาษี ตามมาตรา 86/4 และ
มาตรา 86/5 แห่งประมวลรัษฎากร เฉพาะที่มีลักษณะเป็นแบบเต็มรูป ลงวันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ.
2542 ดังนั้น หากใบกำกับภาษีมีรายการอื่นถูกต้องครบถ้วนตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากร
บริษัท จ. (ไทยแลนด์) จำกัด มีสิทธินำใบกำกับภาษีดังกล่าวไปถือเป็นภาษีซื้อในการคำนวณ
ภาษีมูลค่าเพิ่มได้แต่การออกใบกำกับภาษีในคราวต่อไป บริษัทฯต้องระบุชื่อลูกค้าตามที่ได้จดทะเบียน
ภาษีมูลค่าเพิ่ม
2. กรณีบริษัทฯ ระบุชื่อผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการโดยตัวสะกด สระ วรรณยุกต์ การันต์
ผิดพลาด แต่เป็นที่เห็นได้อย่างชัดเจนโดยไม่ทำให้เกิดความเข้าใจผิดว่าเป็นผู้ประกอบการรายอื่น ถือว่า
บริษัทฯระบุชื่อครบถ้วนแล้ว ตามมาตรา 86/4(3) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ 4(3) ของ
คำสั่งกรมสรรพากรที่ ป.86/2542 เรื่องหลักเกณฑ์ การจัดทำใบกำกับภาษีตามมาตรา 86/4 และ
มาตรา 86/5 แห่งประมวลรัษฎากร เฉพาะ ที่มีลักษณะเป็นแบบเต็มรูป ลงวันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ.
2542

เลขตู้

: 63/29056

 

ใบกำกับภาษี วันที่ไม่ตรงกับวันที่ ในใบส่งของ

Inbox: 4 ธันวาคม พ.ศ. 2561 เวลา 15:19 น. 
คุณ Phenphan Roj “เพ็ญพรรณ”

เรียนอาจารย์สุเทพ ที่เคารพ

ดิฉันขออนุญาตปรึกษาปัญหาเกี่ยวกับ การซื้อสินค้าจาก supplier ซึ่งเราตรวจพบว่า supplier A ขายสินค้าโดยออกใบกำกับภาษีลงวันที่ ที่ไม่ตรงกับวันที่ในใบส่งของที่แนบมาด้วย

อาทิเช่น วันที่ในใบกำกับภาษี คือ วันที่ 8 ม.ค. 2561 แต่วันที่ในใบส่งของ คือวันที่ 24 พ.ย. 2560 ซึ่งเป็นคนละรอบปีบัญชีและภาษี 

ดังนั้นดิฉันขอเรียนปรึกษาดังนี้

1. ใบกำกับภาษีที่ได้จาก suppiler A ถูกต้องหรือไม่ ใช้เป็นภาษีซื้อของกิจการดิฉันได้หรือไม่คะ?

2. การบันทึกเป็นค่าใช่จ่ายทางบัญชีในปี 61 ถูกต้องเพราะเพิ่งได้รับใบแจ้งหนี้ในปี 61 จาก supplier A ใช่มั้ยคะ?

3. กิจการดิฉันต้องทำการปรับค่าใช้จ่ายทางภาษีในปี 60 แทนใช่มั้ยคะ

ขอแสดงความนับถือ และ ขอบพระคุณ อาจารย์ ที่ให้คำปรึกษานะคะ

สุเทพ พงษ์พิทักษ์ 
วิสัชนา: 

กรณีวันที่ในใบกำกับภาษีลงไม่ตรงกับวันที่ในใบส่งของที่แนบมาด้วย อาทิ วันที่ในใบกำกับภาษี คือ วันที่ 8 ม.ค. 2561 แต่วันที่ในใบส่งของ คือวันที่ 24 พ.ย. 2560 ซึ่งเป็นคนละรอบปีบัญชีและภาษี นั้น ถือได้ว่า Supplier มีความผิดตามประมวลรัษฎากร ดังนี้ 

….(1) บริษัทฯ ต้องรับผิดเสียเบี้ยปรับสองเท่าของจำนวนภาษีตามใบกำกับภาษี เนื่องจากมิได้จัดทำใบกำกับภาษี และส่งมอบให้แก่ผู้ซื้อสินค้า หรือผู้รับบริการตามที่กำหนดตามมาตรา 86 วรรคหนึ่ง แห่งประมวลรัษฎากร ทั้งนี้ ตามมาตรา 89 (5) แห่งประมวลรัษฎากร 

….(2) บริษัทฯ ต้องต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินห้าพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ กรณีไม่จัดทำใบกำกับภาษีหรือสำเนาใบกำกับภาษี หรือจัดทำแล้วไม่ส่งมอบให้ผู้ซื้อ หรือผู้รับบริการตามมาตรา 86 วรรคหนึ่ง….ตามมาตรา 90/2 (3) แห่งประมวลรัษฎากร

ต่อข้อถาม ขอเรียนว่า

1. ใบกำกับภาษีที่ได้จาก suppiler A ถูกต้องหรือไม่ ไม่สามารถใช้เป็นภาษีซื้อของกิจการได้ เนื่องจากผิดในส่วนที่เป็นสาะสำคัญ คือวันที่ในใบกำกับภาษีไม่ถูกต้องตรงตามความเป็นจริงกันวันที่เกิดความรับผิด อย่างเห็นได้ชัด เพราะมีการแนบใบส่งของไปด้วย ถือเป็นความผิดเห็นเต็มตา

2. การบันทึกเป็นค่าใช่จ่ายทางบัญชีในระยะเวลาบัญชีปี 2561 ไม่ได้ เพราะผิดรอบระยะเวลาบัญชี กรณีเพิ่งได้รับใบแจ้งหนี้และใบกำกับภาษีในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2561 จาก supplier A ก็ไม่อาจนำมาใช้อ้างอิงได้ เนื่องจากเห็นเต็มดาว่า ใบส่งออกออกในวันที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

3. กิจการไม่ต้องทำการปรับค่าใช้จ่ายทางภาษีในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2560 แต่อย่างใด เพราะถูกต้องตามหลักการบัญชีภาษีอากรแล้ว

โทษ ใบกำกับภาษี ปลอม

การค้นหาที่เกี่ยวข้องกับ ใบกำกับภาษีคือ ตัวอย่างใบกำกับภาษี แบบฟอร์มใบกำกับภาษี หลักเกณฑ์การออกใบกำกับภาษี ใบกํากับสินค้า คือ ใบกํากับภาษี ใช้ทําอะไร ใบกํากับภาษี บุคคลธรรมดา ใบกํากับภาษีมีกี่ประเภท ใบกำกับภาษีอย่างย่อ

Related Articles | บทความที่คุณอาจสนใจ

สำนักงานบัญชี BEE - Accountant @beeaccountant
บริษัท บี.อี. แอคเคาน์ติ้ง เซอร์วิสเซส จำกัด ติดต่อ TEL 091-830-3543 ให้บริการ รับทำบัญชี รายเดือน รับทำรายปี จัดทำภาษี รายเดือน จัดทำภาษีรายปี และตรวจสอบบัญชี สำหรับกิจการนิติบุคคล หรือบุคคลธรรมดาทุกประเภทกิจการ
Click Here
ประเภทกิจการรับ ทำบัญชี
กิจการซื้อมาขายไป กิจการบริการ กิจการผลิต
ร้านทอง ร้านยา จำหน่าย รถยนต์ รถจักรยานยนต์ อัญมณี นำเข้า ส่งออก Agency ทัวร์ อสังหาริมทรัพย์ สิ่งพิมพ์ เครื่องจักร ขนส่ง จัดหาพนักงาน นายหน้า ประกันชีวิต ประกันวินาศภัย คลินิก ความงาม ทันตกรรม ผลไม้ พื้นที่เช่า Co working space อาหาร รับเหมา เครื่องจักร ธุรกิจที่ถูกต้องตามกฎหมายทุกประเภท
Click Here
ข้อดีของบริการ รับทำบัญชี ของสำนักงานบัญชี
ผู้ประกอบการได้ทุ่มเททรัพยากรทั้งหมดไปที่ธุรกิจหลักของกิจการได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ​ ควบคุมค่าใช้จ่ายของกิจการ ประมาณการวางแผนงบประมาณได้ดี
สำนักงาน update ความรู้และ เทคโนโลยีให้ทันกับหน่วยงานต่างๆ เช่น กรมสรรพากร
ธุรกิจการต่างๆ เช่น ร้านค้าออนไลน์ กิจการซื้อมาขายไป กิจการผลิต กิจการนายหน้าประกันชีวิต นายหน้าประกันวินาศภัย (ตามกฎ OIC)​
Designed by pch.vector / Freepik
รับทำบัญชี
Click Here
Previous
Next

Bee-Accountant service

Our mission

Bee Accountant ยึดมั่นในความถูกต้อง โปร่งใส ตรงเวลา งานได้คุณภาพ ตรวจสอบได้จากทุกหน่วยงาน เช่นกรมสรรพากร กรมพัฒนาธุรกิจการค้า  คปภ และหน่วยงานอื่นๆ

Contact us

Post Views: 18,457

BeE Accountant

we'd love to have your feedback on your experience so far

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

บันทึกการตั้งค่า