Skip to content

สินค้าฝากขาย การบันทึกบัญชี ภาษี

รับทำบัญชี กิจการซื้อมาขายสินค้าฝากขาย การบันทึกบัญชี ภาษี  ในการรับทำบัญชีของ สำนักงานบัญชี   กลุ่มธุรกิจที่ประกอบกิจการซื้อมาขายไป จะมีการฝากขายกับห้างสรรสินค้า โรงแรม ร้านค้าต่างเพื่อเป็นการสร้างช่องทางการขายให้กว้างขวางขึ้น  ดังนั้นการฝากขายสินค้า หรือ ที่เรียกว่าสินค้าฝากขาย จึงเป็นวิธีทางการตลาดที่กิจการซื้อมาขายไป นิยมใช้ในการเพิ่มยอดขาย  รวมทั้งประหยัดค่าใช้จ่ายในการเช่าพื้นที่เองเพื่อตั้งวางสินค้า ในส่วนผู้รับฝากขายได้รับประโยชน์จากกำไรจากสินค้าที่ไม่ต้องลงทุนในสินค้าทั้งหมด  ซึ่งจะได้รับรายได้จากการขาย เมื่อสินค้าที่รับฝากขายได้ โดยผู้ฝากขายจะให้ส่วนแบ่งแก่ผู้รับฝาก หรือผู้รับฝากบวกเพิ่มส่วนต่างรายได้ที่ต้องการเข้าไปในราคาสินค้าเอง

การฝากขาย คือ การที่เจ้าของสินค้า ซึ่งเรียกว่า ผู้ฝากขาย (Consignor) ส่งสินค้าไปให้บุคคลอีกฝ่ายหนึ่ง ซึ่งทำหน้าที่เป็นตัวแทนของเจ้าของสินค้าทำการจำหน่ายสินค้านั้นให้ ซึ่งเรียกว่า ผู้รับฝากขาย (Consignee) และผู้รับฝากขายจะได้รับผลตอบแทนเป็นค่านายหน้า ซึ่งจะคำนวณเป็นอัตราร้อยละจากยอดขาย

สินค้าฝากขาย การบันทึกบัญชี ภาษี
สินค้าฝากขาย

สรรพากรมองสินค้าฝากขายอย่างไร

รับทำบัญชี ภาษี กิจการซื้อมาขายไป – สินค้าฝากขาย  การฝากขายสินค้าทางกรมสรรพากรได้ออกแนวทางในการปฎิบัติไว้ 2 แบบดังนี้

1.การฝากขายโดยไม่มีสัญญาแต่งตั้งตัวแทน

ในกฎหมายเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม ได้ระบุไว้เป็นการทั่วไปว่า“เมื่อมีการส่งมอบสินค้าเพื่อเป็นการฝากขาย” ไปให้ผู้รับฝากขาย แล้ว ถือว่า ภาระภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้นแล้ว ผู้ฝากขาย มีหน้าที่ต้องออกใบกำกับภาษี และคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม และนำส่งภาษีขายแก่กรมสรรพากร ทำให้เกิดความแตกต่างในวิธีปฏิบัติทางบัญชี และภาษีอากรเกิดขึ้น

 

มาตรา 77 ภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นภาษีอากรประเมิน

(8) ” ขาย ” หมายความว่า จำหน่าย จ่าย โอนสินค้า ไม่ว่าจะมีประโยชน์หรือค่าตอบแทนหรือไม่ และให้หมายความรวมถึง

   (ก) สัญญาให้เช่าซื้อสินค้า สัญญาซื้อขายผ่อนชำระที่กรรมสิทธิ์ในสินค้ายังไม่โอนไปยังผู้ซื้อเมื่อได้ส่งมอบสินค้าให้ผู้ซื้อแล้ว หรือสัญญาจะขายสินค้าที่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ และเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนดโดยอนุมัติรัฐมนตรี     
    (ข) ส่งมอบสินค้าให้ตัวแทนเพื่อขาย
    (ค) ส่งสินค้าออกนอกราชอาณาจักร
    (ง) นำสินค้าไปใช้ไม่ว่าประการใดๆ เว้นแต่การนำสินค้าไปใช้เพื่อการประกอบกิจการของตนเอง โดยตรงตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนด
    (จ) มีสินค้าขาดจากรายงานสินค้าและวัตถุดิบตามมาตรา 87 (3) หรือมาตรา 87 วรรคสอง

2.  การฝากขายโดยมีสัญญาแต่งตั้งตัวแทน

ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 8) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ของสัญญาการตั้งตัวแทนเพื่อขายตามประเภทของสินค้า ตามมาตรา 78(3) แห่งประมวลรัษฎากร

               ข้อ 1  ต้องเป็นสัญญาการตั้งตัวแทนเพื่อขายสินค้าโดยตัวแทนได้รับค่าตอบแทนหรือบำเหน็จจากตัวการตามที่ได้กำหนดไว้ในสัญญาตั้งตัวแทน

                ข้อ 2  สัญญาตามข้อ 1 ต้องจัดทำเป็นลายลักษณ์อักษร และเป็นสัญญาที่ตั้งตัวแทนเพื่อขายสินค้าประเภทใดประเภทหนึ่ง หรือทุกประเภทก็ได้

                ข้อ 3  ตัวการและตัวแทนต้องเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนซึ่งต้องคำนวณเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 82/3 แห่งประมวลรัษฎากร

                ข้อ 4  ตัวการและตัวแทนต้องเก็บรักษาต้นฉบับสัญญาการตั้งตัวแทนไว้ ณ สถานประกอบการที่เป็นสำนักงานใหญ่ เป็นเวลาไม่น้อยกว่าห้าปีนับแต่วันสิ้นสุดสัญญา

                ข้อ 5   ตัวการต้องแจ้งสัญญาการตั้งตัวแทนต่อเจ้าพนักงานสรรพากรภายใน 15 วันนับแต่วันทำสัญญาตั้งตัวแทน ณ สำนักงานสรรพากรพื้นที่ หรือสำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขาในเขตท้องที่ที่สถานประกอบการที่เป็นสำนักงานใหญ่ของตัวการตั้งอยู่“( แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 145) ใช้บังคับ 11 ตุลาคม 2545 เป็นต้นไป )

                ข้อ 6  ตัวแทนต้องจัดทำรายงานสินค้าและวัตถุดิบ โดยให้จัดทำแยกต่างหากจากรายงานสินค้าและวัตถุดิบของตน ตามมาตรา 87(3) แห่งประมวลรัษฎากร

ประเด็นทางภาษี ในการรับทำบัญชี สินค้าฝากขาย

กิจการซื้อมาขายไป -สินค้าฝากขาย

การฝากขายสินค้ามีประเด็น ทางบัญชี และภาษีอากรที่ต้องทำความเข้าใจพอสมควร  ทั้งในส่วนของภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีเงินได้นิติบุคคล  กิจการควรวางแผนจัดการ อย่างเป็นระบบ ในหัวข้อประเด็นทางบัญชี ภาษีดังนี้

ภาษีที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำบัญชีสินค้าฝากขาย

ภาษีมูลค่าเพิ่ม

ภาษีเงินได้นิติบุคคล

หน้าที่ของผู้ฝากขาย / ผู้รับฝากขาย

ผู้ฝากขาย

ผู้รับฝากขาย​

ใบกำกับภาษีสินค้าฝากขายโดยมีสัญญาแต่งตั้งตัวแทน

ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 68) เรื่อง    กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการออกใบกำกับภาษีโดยตัวแทน และ กำหนดรายการในใบกำกับภาษี ตามมาตรา 86/5 (4) แห่งประมวลรัษฎากร

ใบกำกับภาษี ตัวแทน ตัวการ

สินค้าฝากขาย - ข้อหารือภาษีอากร

ที่มาข้อมูลบางส่วน จาก เพจท่านอาจารย์สุเทพ

ภาษีมูลค่าเพิ่ม ใบลดหนี้ กรณีสินค้าฝากขาย

คุณ Tom Bein (15 มกราคม พ.ศ. 2560 เวลา 17:27 น.)
เรียนสอบถาม อ. สุเทพครับ

ปุจฉา: บริษัทรับฝากขายสินค้า จากผู้ผลิต
1. สินค้าที่วางขายที่ร้านถือเป็นกรรมสิทธิ์ของใครครับ
2. เอกสารทำเหมือนซื้อขายระหว่างกันไหมครับ ตอนสินค้าเข้าก็ใบกำกับภาษีซื้อ พอคืนของก็ออกใบลดหนี้

สุเทพ พงษ์พิทักษ์

วิสัชนา:


กรณีบริษัทฯ รับฝากขายสินค้า จากผู้ผลิต
1. กรณีภาษีเงินได้นิติบุคคล
           ตามข้อ 3.3 ของคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป. 1/2528
           “ข้อ 3 บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลรายใดได้ปฏิบัติในการคำนวณรายได้และรายจ่ายตามข้อต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ตั้งแต่รอบระยะเวลาบัญชีใด ให้ถือว่าการปฏิบัติดังกล่าวเป็นกรณีที่ได้รับอนุมัติจากอธิบดีกรมสรรพากรแล้ว บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้นจะต้องถือปฏิบัติตามวิธีการที่ได้รับอนุมัตินั้นตลอดไป เว้นแต่จะได้รับอนุมัติให้เปลี่ยนแปลงจากอธิบดีกรมสรรพากร …
        .3.3 การคำนวณรายได้และรายจ่ายของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งประกอบกิจการฝากขายสินค้าซึ่งผู้รับฝากสินค้า (Consignee) ทำหน้าที่ขายสินค้าแทนผู้ฝากสินค้า (Consignor) ให้ใช้เกณฑ์สิทธิตามข้อ 2 โดยบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้นต้องนำรายได้จากการขายสินค้ามารวมคำนวณเป็นรายได้ทั้งจำนวนในรอบระยะเวลาบัญชีที่มีการฝากขายสินค้า
         กรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งประกอบกิจการฝากขาย สินค้าตามวรรคหนึ่งได้ทำสัญญาการตั้งตัวแทนผู้รับฝากสินค้า (Consignee) เพื่อขายเป็นหนังสือ โดยตัวแทนผู้รับฝากสินค้า (Consignee) ได้รับค่าตอบแทนหรือบำเหน็จตามที่กำหนดไว้ในสัญญา บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้นจะคำนวณรายได้เมื่อตัวแทนผู้รับฝากสินค้า (Consignee) ขายสินค้าให้แก่ผู้ซื้อก็ได้”
…   .ดังนั้น ในทางตรงกันข้าม สำหรับบริษัทตัวแทนผู้รับฝากขาย (Consignee)
….1.1 กรณีที่มิได้ทำสัญญาการตั้งตัวแทนผู้รับฝากสินค้า (Consignee) เพื่อขายเป็นหนังสือ ตามวรรคแรกของข้อ 3.3 ดังกล่าว ให้ถือว่า ผู้รับฝากขายได้ซื้อสินค้านั้น เช่นเดีวกับการซื้อขายสินค้าทั่วไป ในกรณีนี้ ในทางภาษีอากร ถือเสมือนหนึ่งว่า กรรมสิทธิ์ในสินค้าที่รับฝากขายได้โอนมายังผู้รับฝากขายแล้ว
….1.2 กรณีที่ได้มีการทำสัญญาการตั้งตัวแทนผู้รับฝากสินค้า (Consignee) เพื่อขายเป็นหนังสือ โดยตัวแทนผู้รับฝากสินค้า (Consignee) ได้รับค่าตอบแทนหรือบำเหน็จตามที่กำหนดไว้ในสัญญา ให้บริษัทผู้รับฝากขายรับรู้รายได้ค่านายหน้า เมื่อตัวแทนผู้รับฝากสินค้า (Consignee) ได้ขายสินค้าให้แก่ผู้ซื้อ ในกรณีนี้ กรรมสิทธิ์ในสินค้ายังคงเป็นของผู้ฝากขายต่อไป จนกว่าจะขายสินค้าให้แก่ลูกค้า

 


2. กรณีภาษีมูลค่าเพิ่ม

 


….2.1 การขายสินค้าโดยการตั้งตัวแทนฝากขายและได้ส่งมอบสินค้าให้ตัวแทนแล้ว ทั้งนี้ เฉพาะสัญญาการตั้งตัวแทนเพื่อขายตามประเภทของสินค้าและเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 8) นั้น ตามมาตรา 78 (3) แห่งประมวลรัษฎากร กำหนดให้ความรับผิดจากขายสินค้าในกรณีดังกล่าวทั้งหมดเกิดขึ้นเมื่อตัวแทนได้ส่งมอบสินค้าให้ผู้ซื้อ เว้นแต่กรณีที่ได้มีการกระทำดังต่อไปนี้เกิดขึ้นก่อนการส่งมอบสินค้าให้ผู้ซื้อ ก็ให้ถือว่าความรับผิดเกิดขึ้นเมื่อได้มีการกระทำนั้น ๆ ด้วย
……..(ก) ตัวแทนได้โอนกรรมสิทธิ์สินค้าให้ผู้ซื้อ
……..(ข) ตัวแทนได้รับชำระราคาสินค้า
……..(ค) ตัวแทนได้ออกใบกำกับภาษี หรือ
……..(ง) ได้มีการนำสินค้าไปใช้ไม่ว่าโดยตัวแทนหรือบุคคลอื่น
ทั้งนี้ โดยให้ความรับผิดเกิดขึ้น ตามส่วนของการกระทำนั้น ๆ แล้วแต่กรณี

….2.2 กรณีที่การฝากขายสินค้าโดยไม่มีการตั้งตัวแทนฝากขาย แม้จะได้ส่งมอบสินค้าให้ตัวแทนแล้ว ทั้งนี้ สัญญาการตั้งตัวแทนเพื่อขายไม่เป็นไปตามประเภทของสินค้าและหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 8) นั้น นั้น ตามมาตรา 78 (1) แห่งประมวลรัษฎากร กำหนดให้ความรับผิดทั้งหมดเกิดขึ้นเมื่อส่งมอบสินค้า เว้นแต่กรณีที่ได้มีการกระทำดังต่อไปนี้เกิดขึ้นก่อนส่งมอบสินค้าก็ให้ถือว่าความรับผิดเกิดขึ้นเมื่อได้มีการกระทำนั้น ๆ ด้วย
……..(ก) โอนกรรมสิทธิ์สินค้า
……..(ข) ได้รับชำระราคาสินค้า หรือ
……..(ค) ได้ออกใบกำกับภาษี
ทั้งนี้ โดยให้ความรับผิดเกิดขึ้นตามส่วนของการกระทำนั้น ๆ แล้วแต่กรณี

ดังนั้น กรณีบริษัทฯ รับฝากขายสินค้า จากผู้ผลิต
….1. โดยกฎหมาย สินค้าที่วางขายที่ร้านถือเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ผลิตที่ฝากขาย แต่ในทางภาษีอากรให้พิจารณาตามหลักการข้างต้น

….2. เอกสารในการฝากขาย ในทางภาษีอากรขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริง หากไม่มีการทำสัญญาฝากขายสินค้าเป็นลายลักษณ์อักษร ก็ให้จัดทำเอกสารเหมือนซื้อขายระหว่างกันทั่วไป คือ ตอนสินค้าเข้าก็ใบกำกับภาษีซื้อ พอคืนของก็ออกใบลดหนี้ ซี่งส่วนใหญ่ของการฝากขายนิยมกระทำกันในลักษณะนี้ เพราะง่าย และสะดวกในการปฏิบัติทั้งในทางธุรกิจและทางภาษีอากร

ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการฝากขายสินค้า

ข้อหารือ

ชมรมอุตสาหกรรม ล. (ชมรมฯ) ขอให้จังหวัดปทุมธานีส่งข้อเสนอของชมรมฯ ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาปรับแก้กฎหมายหรือวิธีการปฏิบัติที่เป็นธรรม ในการฝากขายสินค้า ณ ห้างสรรพสินค้า หรือ ร้านสะดวกซื้อ กรณีที่ผู้ผลิตสินค้านำสินค้าไปฝากขายได้รับความเดือดร้อนในการจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่มแทนห้างสรรพสินค้า หรือร้านสะดวกซื้อก่อนที่จะได้รับเงินค่าสินค้าหรือค่าภาษีมูลค่าเพิ่ม ทำให้ขาดเงินทุนหมุนเวียน ซึ่งมีข้อเท็จจริงดังนี้

          ๑.ผู้ผลิตสินค้าที่นำสินค้าไปฝากขาย เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ ๗.๐ เมื่อนำสินค้าไปฝากขาย ณ ห้างสรรพสินค้า หรือร้านสะดวกซื้อ จะต้องออกใบกำกับภาษีมูลค่าเพิ่มพร้อมส่งของไปให้ห้างสรรพสินค้า หรือร้านสะดวกซื้อ ซึ่งเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเช่นเดียวกัน

          ๒.ในการออกใบกำกับภาษีให้แก่ห้างสรรพสินค้า หรือร้านสะดวกซื้อ ผู้ผลิตสินค้าจะต้องรับภาระจ่ายเงินค่าภาษีมูลค่าเพิ่มดังกล่าวก่อน ทั้งๆ ที่ยังมิได้รับเงินค่าสินค้าแต่อย่างใด

          ๓.ห้างสรรพสินค้า หรือร้านสะดวกซื้อ เมื่อได้รับสินค้าพร้อมใบกำกับภาษี ห้างฯ สามารถนำไปเครดิตภาษีซื้อในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มได้ทันที แม้จะยังมิได้มีการขายสินค้าหรือชำระค่าสินค้าและค่าภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่ผู้ผลิตสินค้า ผู้ผลิตสินค้าจึงขอความเป็นธรรมให้ช่วยผู้ประกอบการรายเล็ก โดยให้ห้างสรรพสินค้า หรือร้านสะดวกซื้อ จ่ายภาษีมูลค่าเพิ่มตามใบกำกับภาษีที่ได้รับให้ผู้ผลิตสินค้าก่อน ส่วนค่าสินค้าก็ให้ทยอยชำระเมื่อได้มีการขายสินค้าจริง

 

แนววินิจฉัย

กรณีผู้ผลิตสินค้าเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม นำสินค้าไปฝากขาย ณ ห้างสรรพสินค้า หรือร้านสะดวกซื้อ เมื่อผู้ผลิตสินค้าส่งมอบสินค้าให้แก่ห้างสรรพสินค้า หรือร้านสะดวกซื้อ เข้าลักษณะเป็นการขายสินค้าตามมาตรา ๗๗/๑ (๘) (ข) แห่งประมวลรัษฎากร ผู้ผลิตสินค้ามีหน้าที่ต้องเสียภาษีมูลคาเพิ่มตามมาตรา ๗๗/๒ (๑) แห่งประมวลรัษฎากร เมื่อความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้นตามมาตรา ๗๘ (๑) แห่งประมวลรัษฎากร และผู้ผลิตสินค้ามีหน้าที่จัดทำใบกำกับภาษีในทันทีที่ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้นตามมาตรา ๘๖ แห่งประมวลรัษฎากร

เว้นแต่ผู้ผลิตสินค้าจะทำสัญญาแต่งตั้งให้ห้างสรรพสินค้า หรือร้านสะดวกซื้อเป็นตัวแทนตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ ๘) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขของสัญญาการตั้งตัวแทนเพื่อขายตามประเภทของสินค้า ตามมาตรา ๗๘ (๓) แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ ๒๗ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๓๔ (ตามสิ่งที่ส่งมาด้วยที่แนบ) ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มของผู้ผลิตสินค้า จึงจะเกิดขึ้นเมื่อตัวแทนส่งมอบสินค้าให้แก่ผู้ซื้อ ตามมาตรา ๗๘ (๓) แห่งประมวลรัษฎากร

กค 0702/7981

ภาษีเงินได้นิติบุคคล และภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการขายสินค้าให้กับห้างสรรพสินค้า

ข้อหารือ

สำนักงานภาษีสรรพากรพื้นที่ได้เข้าทำการตรวจสภาพกิจการ ราย บริษัท ส.เมื่อวันที่ 28
มีนาคม 2545 พบว่า บริษัทฯ ประกอบกิจการเป็นตัวแทนจำหน่ายนาฬิกายี่ห้อต่าง ๆ ภายใต้ลิขสิทธิ์ของ  บริษัท S โดยวางจำหน่ายตามห้างสรรพสินค้า ซึ่งบริษัทฯ จะออกใบกำกับภาษีขายทันทีที่มีการ ส่งมอบสินค้า

 

แต่บริษัทฯ ยังไม่ถือว่าได้มีการจำหน่ายสินค้าแล้วจนกว่าห้างสรรพสินค้าจะขายสินค้าและ
ส่งมอบเงินตามที่ขายได้จริงจึงจะรับรู้เป็นรายได้ แต่ในทางปฏิบัติบริษัทฯ ต้องรับรู้รายได้ในส่วนที่ได้ ออกใบกำกับภาษีขายให้กับห้างสรรพสินค้าแล้วทั้งจำนวน และจะสามารถลดยอดรายได้ในกรณีที่

ห้างสรรพสินค้ายังขายสินค้าไม่ได้โดยออกใบลดหนี้ให้กับห้างสรรพสินค้าตามประเพณีการค้าซึ่ง ห้างสรรพสินค้าทั่วไปถือปฏิบัติ

 

บริษัทฯ อ้างว่าห้างสรรพสินค้าไม่ยอมรับใบลดหนี้ของบริษัทฯ บริษัทฯ จึง ลดยอดรายได้ลงโดยมิได้ออกใบลดหนี้

 

ในส่วนนี้ทำให้บริษัทฯ แสดงยอดรายได้ตามแบบแสดงรายการ ภ.ง.ด.50 ของปี 2543 ต่ำกว่าแบบแสดงรายการ ภ.พ.30 เป็นจำนวน 34,287,863.70 บาท และ  สำนักงานภาษีสรรพากรพื้นที่ได้แจ้งให้ทราบว่า บริษัทฯ ต้องรับรู้รายได้ส่วนต่างนี้เป็นรายได้ใน แบบแสดงรายการ ภ.ง.ด.50 โดยให้หักต้นทุนขายในส่วนนี้ได้

 

ทำให้บริษัทฯ ต้องรับผิดและชำระภาษี
เพิ่มเติมตามจำนวนเงินที่ได้ยื่นรายได้ขาดดังกล่าว

บริษัทฯ ไม่เห็นด้วยและชี้แจงว่า การขายสินค้าของ บริษัทฯ เป็นการฝากขายสินค้า

 

แนววินิจฉัย

 

1. กรณีบริษัท ส. ได้นำสินค้าไปวางจำหน่ายตามห้างสรรพสินค้าต่าง ๆ ซึ่งบริษัทฯ จะ
ออกใบกำกับภาษีขายทันทีที่มีการส่งมอบสินค้าพร้อมบันทึกบัญชีขายและบัญชีภาษีมูลค่าเพิ่ม

 

โดยบริษัทฯ เจ้าของสินค้ามิได้ทำสัญญาแต่งตั้งห้างสรรพสินค้าเป็นตัวแทนเพื่อขายสินค้า ตาม ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 8)ฯ ลงวันที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2534  ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 145)ฯ ลงวันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2545

ดังนั้น ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มของเจ้าของสินค้าจึงเกิดขึ้นเมื่อได้ ส่งมอบสินค้าให้แก่ห้างสรรพสินค้าตามมาตรา 78(1) แห่งประมวลรัษฎากร

2. การคำนวณรายได้และรายจ่ายของบริษัทฯ ให้ใช้เกณฑ์สิทธิโดยให้นำรายได้ที่เกิดขึ้นใน
รอบระยะเวลาบัญชีใด แม้ว่าจะยังไม่ได้รับชำระในรอบระยะเวลาบัญชีนั้น มารวมคำนวณเป็นรายได้ใน รอบระยะเวลาบัญชีนั้น และให้นำรายจ่ายทั้งสิ้นที่เกี่ยวกับรายได้นั้นแม้จะยังมิได้จ่ายใน  รอบระยะเวลาบัญชีนั้นมารวมคำนวณเป็นรายจ่ายของรอบระยะเวลาบัญชีนั้นตามมาตรา 65 แห่ง  ประมวลรัษฎากร

ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการรับรู้รายได้สำหรับการฝากขายในต่างประเทศ

ข้อหารือ

บริษัท ซ. ประกอบกิจการผลิตและจำหน่ายสินค้าแผ่นตัวนำไฟฟ้า LEADFRAME ในแผงวงจรเบ็ดเสร็จ (IC SEMICONDUCTOR) และอุปกรณ์ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ เมื่อเดือนมกราคม 2551 บริษัท ต. ซึ่งเป็นสำนักงานใหญ่ในต่างประเทศของบริษัทฯ ได้ทำสัญญาฝากขายสินค้าConsignment Agreement) กับ บริษัท ท. เพื่อฝากขายและจัดเก็บดูแลสินค้าให้กับบริษัทฯ ที่คลังสินค้าของบริษัท ท. ในต่างประเทศ เพื่อรอ การจัดส่งสินค้าให้แก่ลูกค้าในต่างประเทศ บริษัทฯ ขอหารือว่า กรณีส่งสินค้าไปยังคลังสินค้าที่ต่างประเทศ บริษัทฯ จะต้องรับรู้รายได้เมื่อใด

แนววินิจฉัย

กรณีบริษัทฯ ได้ส่งสินค้าออกไปต่างประเทศ โดยส่งไปเก็บไว้ในคลังสินค้าของบริษัท ท. ตามสัญญา ฝากขายสินค้าดังกล่าว ถือว่าการที่ได้ส่งสินค้าไปนั้น เป็นการขายในประเทศไทย และให้ถือราคาสินค้าตาม ราคาตลาดในวันที่ส่งไปเป็นรายได้ในรอบระยะเวลาบัญชีที่ส่งไปนั้น ตามมาตรา 70 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร และในการคำนวณรายได้และรายจ่ายเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลของบริษัทฯ ให้ใช้เกณฑ์สิทธิ์ โดยให้นำรายได้ ที่เกิดขึ้นจากการส่งออกดังกล่าวในรอบระยะเวลาบัญชีใด แม้ว่าจะยังไม่ได้รับชำระในรอบระยะเวลาบัญชีนั้น มารวมคำนวณเป็นรายได้ในรอบระยะเวลาบัญชีนั้น และให้นำรายจ่ายทั้งสิ้นที่เกี่ยวกับรายได้นั้น แม้จะยัง ไม่ได้จ่ายในรอบระยะเวลาบัญชีนั้น มารวมคำนวณเป็นรายจ่ายของรอบระยะเวลาบัญชีนั้น ตามมาตรา 65 แห่งประมวลรัษฎากร

ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีขออนุมัติแต่งตั้งผู้ประกอบการจดทะเบียนตัวแทนเพื่อรับชำระเงินค่าสินค้าหรือค่าบริการ

 บริษัท ก. ประกอบกิจการเป็นผู้ดำเนินการด้านอินเตอร์เน็ต ได้ทำสัญญาแต่งตั้งให้
บริษัท ข. ซึ่งประกอบกิจการตัวแทนรับชำระเงินค่าสินค้าหรือค่าบริการเป็นตัวแทน ตามสัญญาการตั้งตัว แทน โดยตัวแทนสามารถออกใบเสร็จรับเงิน/ใบกำกับภาษีอย่างย่อแทนตัวการ รับชำระเงินค่าบริการ รายเดือนอินเตอร์เน็ต และค่าบริการอื่นใดที่ตัวการให้รับชำระ

 

โดยตัวแทนจะได้รับค่าตอบแทนตามสัญญา ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544 ถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2545

 

สำนักงานสรรพากรจังหวัดฯ จึงส่งหนังสือ การแต่งตั้งผู้ประกอบการจดทะเบียนตัวแทนในการออกใบกำกับภาษี และการรับชำระเงินค่าสินค้าหรือ ค่าบริการแทนตัวการ เพื่อให้กรมสรรพากรพิจารณาอนุมัติ

 

กรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนตัวการแต่งตั้งผู้ประกอบการจดทะเบียนตัวแทนเพื่อรับชำระ ค่าบริการและออกใบกำกับภาษีตามมาตรา 86/5 (4) แห่งประมวลรัษฎากร แทนผู้ประกอบการ จดทะเบียนตัวการ ผู้ประกอบการจดทะเบียนตัวการและผู้ประกอบการจดทะเบียนตัวแทนมีสิทธิกระทำได้ โดยต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับ ภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 68)ฯ ลงวันที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2538 โดยไม่ต้องขออนุมัติต่ออธิบดี กรมสรรพากรแต่อย่างใด

ยืมสินค้ามาขาย ใช่การฝากขายหรือไม่

Inbox: พุธที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2561 เวลา 11:47 น.
คุณ Preeda Dermnun
รบกวนสอบถามอาจารย์ครับ

บริษัท ก. ประกอบกิจการในประเทศไทยปกติซื้อสินค้าจากต่างประเทศเข้ามาจำหน่ายในประเทศ พอสินค้าใกล้จะหมดก็จะสั่งเพิ่มมาเรื่อย ๆ ในระหว่างรอสินค้า มีลูกค้าในประเทศต้องการสินค้า แต่บริษัท ก. สินค้าไม่พอขาย ก็เลยไปยืมสินค้าจาก บริษัท อ.(ในประเทศไทย) เอามาเพื่อจำหน่ายให้ลุกค้าก่อน

หลังจากที่ต่างประเทศส่งสินค้ามาถึง บริษัท ก. ก็จะคืนสินค้าให้ บริษัท อ.

อยากทราบว่า สินค้าที่ ก.ยืมมาจาก อ. นั้น ตอนที่ขายไป ราคาทุน ต้องใช้ราคาใด ครับ เนื่องจากขายออกไป ก่อนที่สินค้าจากต่างประเทศจะส่งมาถึงเมืองไทย

ขอบคุณครับ

สุเทพ พงษ์พิทักษ์



วิสัชนา:



กรณีบริษัท ก. ประกอบกิจการในประเทศไทย ในการซื้อสินค้าจากต่างประเทศเข้ามาจำหน่ายในประเทศ พอสินค้าใกล้จะหมดก็จะสั่งเพิ่มมาเรื่อย ๆ ในระหว่างรอสินค้า มีลูกค้าในประเทศต้องการสินค้า แต่บริษัท ก. สินค้าไม่พอขาย ก็เลยไปยืมสินค้าจาก บริษัท อ. (ในประเทศไทย) เอามาเพื่อจำหน่ายให้ลุกค้าก่อน แล้วหลังจากที่ต่างประเทศส่งสินค้ามาถึง บริษัท ก. ก็จะคืนสินค้าให้ บริษัท อ. นั้น

1. การยืมสินค้ามาขาย ถือเป็นการยืมใช้สิ้นเปลีอง เข้าลักษณะเป็นการซื้อขายสินค้า ดังนั้น การที่บริษัท ก. ยืมสินค้าจากบริษัท อ. จึงเท่ากับบริษัท อ. ได้ขายสินค้าให้แก่บริษัท ก. บริษัท อ. จึงต้องออกใบกำกับภาษีให้แก่บริษัท ก และเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม รวมทั้งรับรู้รายได้

2. เมื่อบริษัท ก. ได้รับสินค้าที่นำเข้าจากต่างประเทศ แล้วนำมาคืนให้แก่บริษัท อ. เท่ากับบริษัท ก. ได้ขายสินค้าให้แก่บริษัท อ. บริษัท ก. จึงต้องออกใบกำกับภาษีให้แก่บริษัท อ. และเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม รวมทั้งรับรู้รายได้

3. สินค้าที่ ก. ยืมมาจาก อ. นั้น ตอนที่ขายไป ราคาทุน ต้องใช้ราคาที่บริษัท อ. ออกใบกำกับภาษีให้แก่บริษัท ก. และเมื่อบริษัท ก. ขายสินค้าคืนให้แก่บริษัท อ. ก็ให้ใช้ราคาเดียวกัน โดยอาจใช้ราคาทุนของบริษัท อ. อันเป็นราคาที่มีเหตุอันสมควร

การฝากขายสินค้ากับบริษัท ลา

คุณ Nuttakan Wongviboonsin ได้โพสต์ผ่านไทม์ไลน์ไปเมื่อวันจันทร์ที่ 5 สิงหาคม 2556 เวลา 11:03 น. ว่า
“เรียนปรึกษาอาจารย์ที่เคารพค่ะ
บริษัท ทรี นำสินค้าไปฝากขายกับบริษัท ลา โดยบริษัท ลา ขายสินค้าผ่านหน้าเว็บไซต์ (สินค้ามาจากหลายๆบริษัท) ทั้งสองได้ทำสัญญาขายสินค้ากันเป็นระยะเวลา 6 เดือน บริษัท ทรี ผู้ฝากขายได้ออกใบกำกับภาษีในวันที่นำสินค้าไปส่ง 6 มิ.ย. 2556 แต่ผู้ตรวจรับสินค้าไม่ยอมรับใบกำกับภาษี รับแต่สำเนาใบสั่งซื้อไว้ บริษัท ทรี จึงเก็บใบกำกับภาษีนั้นไว้กับตน จากนั้นวันที่ 25 ก.ค. 2556 บริษัท ทรี ได้รับรายงานการขายจากบริษัท ลา ซึ่งแสดงรายการสินค้าที่ขายได้ บริษัท ทรี จึงโทรไปแจ้งกับทางบัญชีของบริษัท ลา ว่า จะออกใบแจ้งหนี้ตามรายการสินค้าที่ขายได้เพื่อวางบิล พร้อมกับนำใบกำกับภาษีที่ได้ออกไว้แล้วเมื่อ 6 มิ.ย. 2556 ไปให้ โดยจะออกใบเสร็จรับเงินให้อีกครั้งในวันที่ได้รับเงิน แต่โดนบริษัท ลา ต่อว่ากลับมาและให้ดำเนินการดังนี้ คือ ในวันที่ส่งสินค้าให้ออกใบส่งของชั่วคราว เมื่อบริษัท ลา ขายสินค้าได้ จะรายงานการขายสรุปให้เป็นรายเดือน และให้ บริษัท ทรี ออกใบกำกับภาษีตามรายงานนั้นในวันที่ไปวางบิล

จากการอ่านสัญญาขายสินค้า หนูตีความได้ว่า ไม่ใช่สัญญาการตั้งตัวแทนเพื่อขายตาม ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 8)

ขอความกรุณาเรียนถามค่ะ

คำถาม



1. ในวันที่ 6 มิ.ย. 2556 บริษัท ทรี ผู้ฝากขายได้ออกใบกำกับภาษีไปแล้วในวันส่งของและนำส่งภาษีตามแบบ ภ.พ.30 ไปแล้ว เมื่อบริษัท ลา ไม่ยอมรับใบกำกับภาษีใบนี้ และแจ้งให้บริษัท ทรี ยกเลิกใบกำกับภาษีนี้ และออกใบกำกับภาษีตามรายงานการขายที่สรุปให้ในเดือน ส.ค. บริษัท ทรี จะแก้ไขปัญหาอย่างไรได้บ้างค่ะ
2. หาก บริษัท ลา ไม่ยอมให้ บริษัท ทรี ออกใบกำกับภาษีในวันที่ไปส่งสินค้า ในระยะยาว บริษัท ทรี ควรแก้ปัญหาอย่างไร จะสามารถออกใบกำกับภาษีตามจำนวนที่ส่งในเดือนที่ส่งสินค้า และออกใบลดหนี้ตามจำนวนที่ส่งทั้งยอดในเดือนที่ได้รับรายงานการขาย พร้อมกับออกใบกำกับภาษีใหม่ตามรายงานการขาย ที่ บริษัท ลา สรุปมาให้ เช่น ส่งสินค้าเดือน มิ.ย. 10 ชิ้น ราคา 100.- ก็ออกใบกำกับภาษี มิ.ย. 10 ชิ้น 100.- เมื่อเดือน ส.ค.ได้รายงานการขายสรุปเป็น 8 ชิ้น 80.- ก็ออกใบลดหนี้ 10 ชิ้น ราคา 100.- และออกใบกำกับภาษีใบใหม่เป็น 8 ชิ้น 80.- ในเดือน ส.ค. ได้ไหมค่ะ
3. ตามสัญญาการตั้งตัวแทนเพื่อขายตาม ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 8) ตัวแทน (ผู้รับฝากขายสินค้า) มีหน้าที่จัดทำใบกำกับภาษีในนามของตัวการ(ผู้ฝากขาย) เพื่อให้กับผู้ซื้อสินค้า ใช่หรือไม่ค่ะ ในทางปฏิบัติน่าจะทำได้ยาก


 

กราบขอบพระคุณอาจารย์ค่ะ”

 

แนวตอบ

 

เรียน คุณ Nuttakan Wongviboonsin    จากข้อเท็จจริงข้างต้น ไม่ข้อตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ของสัญญาการตั้งตัวแทนเพื่อขายตามประเภทของสินค้า ตามมาตรา 87 (3) แห่งประมวลรัษฎากร ตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 8) ตามควาเห็นของคุณ Nuttakan Wongviboonsin ถูกต้องแล้ว

ต่อข้อถาม ขอเรียนว่า

1. การที่่บริษัท ทรี ผู้ฝากขายได้ออกใบกำกับภาษีไปแล้วในวันส่งของ ตือ วันที่ 6 มิ.ย. 2556 และนำส่งภาษีตามแบบ ภ.พ.30 ไปแล้ว บริษัท ทรี ได้ปฏิบัติถูกต้องตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขกฎหมายภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว

ดังนั้น ในกรณีที่เมื่อบริษัท ลา ไม่ยอมรับใบกำกับภาษีใบนี้ และแจ้งให้บริษัท ทรี ยกเลิกใบกำกับภาษีนี้ และออกใบกำกับภาษีตามรายงานการขายที่สรุปให้ในเดือน ส.ค. บริษัท ทรี จึงเป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้อง เพราะหากบริษัท ทริ กระทำตามจะเกิดผลเสียดังนี้

(1) ถือว่าบริษัท ทริ ออกใบกำกับภาษีโดยไม่มีสิทธิที่จะออกตามกฎหมาย ตามมาตรา 86/13 แห่งประมวลรัษฎากร เพราะในวันที่ออกใบกำกับภาษีไม่มีกิจกรรมที่ต้องออกใบกำกับภาษีนั้น ซึ่งบริษัท ทริ ต้องรับผิดเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามใบกำกับภาษีดังกล่าว พร้อมทั้ง เบี้ยปรับตามมาตรา 89 (6) แห่งประมวลรัษฎากร จำนวนสองเท่าของเงินภาษีมูลค่าเพิ่ม

(2) บริษัท ลา ผู้รับใบกำกับภาษีดังกล่าวที่บริษัท ทริ ไม่มีสิทธิทีจะออกตามกฎหมาย บริษัท ลา ไม่สามารถนำภาษีซื้อตามใบกำกับภาษีนั้นไปถือเป็นเครดิตหักออกจากภาษีขาย ตามมาตรา 82/3 แห่งประมวลรัษฎากรได้ เนื่องจากต้องห้ามตามมาตรา 82/5 (5) แห่งประมวลรัษฎากร
แนวทางในแก้ไขปัญหา

(1) ชี้แจงข้อกฎหมายให้บริษัท ลา ได้ทราบถึงความถูกต้องของกฎหมาย และข้อเสียของการเรียกรับใบกำกับภาษีเมือขายสินค้าได้แล้ว ตามที่ได้ชี้แจ้งให้ทราบข้างต้น

(2) ใบกำกับภาษีสามารถใช้ล่าช้าได้อีก 6 เดือน ถัดจากเดือนที่ระบุในใบกำกับภาษี ตามมาตรา 82/3 วรรคสาม แห่งประมวลรัษฎากร และประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 4)

(2) หากไม่รับฟัง ถือได้ว่า “คู่สัญญา” เป็นคนพาลไม่พึงคบด้วย ตามมงคลสูตรข้อแรก “อเสวนา จ พาลานํ” การไม่เสพคบกับคนพาล (โง่)

2. หาก บริษัท ลา ไม่ยอมให้ บริษัท ทรี ออกใบกำกับภาษีในวันที่ไปส่งสินค้า ในระยะยาว บริษัท ทรี “ริ” (ดำริ) จะสามารถออกใบกำกับภาษีตามจำนวนที่ส่งในเดือนที่ส่งสินค้า และออกใบลดหนี้ตามจำนวนที่ส่งทั้งยอดในเดือนที่ได้รับรายงานการขาย พร้อมกับออกใบกำกับภาษีใหม่ตามรายงานการขาย ที่ บริษัท ลา สรุปมาให้ เช่น ส่งสินค้าเดือน มิ.ย. 10 ชิ้น ราคา 100.- ก็ออกใบกำกับภาษี มิ.ย. 10 ชิ้น 100.- เมื่อเดือน ส.ค.ได้รายงานการขายสรุปเป็น 8 ชิ้น 80.- ก็ออกใบลดหนี้ 10 ชิ้น ราคา 100.- และออกใบกำกับภาษีใบใหม่เป็น 8 ชิ้น 80.- ในเดือน ส.ค. นั้น

ผมเห็นว่า ทั้งใบลดหนี้ และใบกำกับภาษีฉบับใหม่เป็นการออกใบกำกับภาษีและใบลดหนี้ที่ไม่มีสิทธิที่จะออกตามกฎหมาย เกิดผลเสียกับบริษัท ทริ เป็นสองเท่าของข้อ 1 ข้างต้น คือ ต้องรับผิดเสียภาษีมุลค่าเพิ่มตามใบกำกับภาษีฉบับออกให้ใหม่ พร้อมทั้งเบี้ยปรับ 2 เท่าของจำนวนเงินตามใบกำกับภาษี และใบลดหนี้ที่ไม่มีสิทธิที่จะออกตามกฎหมาย

ในขณะที่บริษัท ลา ก็ยังไม่สามารถใช้ภาษีซื้อตามใบกำกับภาษีที่บริษัท ทริออกให้โดยไม่มีสิทธิที่จะออกอยู่ดี (อย่าได้ดันทุรัง จะดีกว่า)

3. ตามสัญญาการตั้งตัวแทนเพื่อขายตาม ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 8) ตัวแทน (ผู้รับฝากขายสินค้า) มีหน้าที่จัดทำใบกำกับภาษีในนามของตัวการ (ผู้ฝากขาย) เพื่อให้กับผู้ซื้อสินค้า แม้ในทางปฏิบัติน่าจะทำได้ยาก ก็เป็นกฎหมายที่ต้องปฏิบัติตาม
การตั้งตัวแทนเพื่อฝากขายไม่ควรใช้กับสินค้าเบ็ตเตล็ด

 

ฝากขายสินค้ากับห้างสรรพสินค้า

คุณ Jutarat Limwilai (13 เมษายน 2015 เวลา 16:34 น.)
ปุจฉา: เรียนท่านอาจารย์สุเทพ รบกวนสอบถามเกี่ยวกับการฝากขายสินค้าในห้างสรรพสินค้าค่ะ
1.เมื่อส่งสินค้าไปฝากขายกับทางห้างฯ บริษัทจะต้องออกใบกำกับภาษีทันทีที่ส่งสินค้า ถึงแม้ว่าจะยังขายไม่ได้ อยากทราบว่าบริษัทจะบันทึกบัญชีขายสินค้าอย่างไร
2.ในการตัดสต๊อกสินค้าหากมีการส่งสินค้าไปฝากขายจะต้องทำการตัดสต๊อกทันทีที่ส่งสินค้าหรือไม่ค่ะ
3.บริษัทจะรับรู้รายได้ในภ.ง.ด 50 เมื่อมีการส่งสินค้าไปฝากขาย หรือเมื่อสินค้านั้นขายได้จริง
ขอพระคุณท่านอาจารย์เป็นอย่างสูงค่ะ

สุเทพ พงษ์พิทักษ์ (15 เมษายน 2015 เวลา 8:45 น.)

 


วิสัชนา:

 



เกี่ยวกับการฝากขายสินค้าในห้างสรรพสินค้า นั้น หากไม่มีการจัดทำสัญญาฝากขายเป็นบายลักษณ์อักษรและมีการจดแจ้งสัญญาฝากขายต่อเจ้าพนักงานประเมิน รวมทั้งการปฏิบัติตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 8) ชึ่งออกตามความในมาตรา 78 (3) แห่งประมวลรัษฎากร
1. เมื่อส่งสินค้าไปฝากขายกับทางห้างฯ บริษัทจะต้องออกใบกำกับภาษีทันทีที่ส่งสินค้า เพราะถือว่าเป็นการขายสินค้าตามมาตรา 77/1 (8) และมาตรา 78 (3) แห่งประมวลรัษฎากรแล้ว ให้บริษัทฯ บันทึกบัญชีขายสินค้าเป็นเงินเช่ือตามข้อตกลงการฝากขายสินค้า
2. เมื่อมีการส่งสินค้าไปฝากขาย ให้ยริษัทฯ ทำการตัดสต๊อกทันทีที่ส่งสินค้า โดยใช้หลักฐานใบกำกับภาษีและอินวอนส์
3.บริษัทจะรับรู้รายได้ในภ.ง.ด 50 เมื่อมีการส่งสินค้าไปฝากขาย ตามมาตรา 65 แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป. 1/2528 ข้อ 3.3

คุณ Jutarat Limwilai (15 เมษายน 2015 เวลา 8:48 น.)
ขอบพระคุณท่านอาจายร์ค่ะ

ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีทำสัญญาฝากขายสินค้ากับนิติบุคคลต่างประเทศ

๒๗ มิถุนายน ๒๕๖๑ ๐๗๐๒/๕๐๔๗ 

บริษัทฯประกอบธุรกิจเกี่ยวกับการผลิตและจัดจำหน่ายเครื่องประดับเพชรพลอย รวมถึงสินค้าตกแต่งบ้านทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งในการประกอบกิจการดังกล่าว บริษัทฯ ได้มีการติดต่อกับคู่ค้าในต่างประเทศในลักษณะของการฝากขายสินค้า

โดยทำสัญญาฝากขายสินค้าระหว่างกันซึ่งกรรมสิทธิ์ในสินค้าที่ส่งออกยังคงเป็นของบริษัทฯ จนกว่าจะมีการขายเกิดขึ้นจริงเมื่อผู้รับฝากได้ส่งมอบสินค้าให้ผู้ซื้อในประเทศหรือต่างประเทศแล้วแต่กรณี ซึ่งบริษัทฯ มีการส่งออกสินค้าไปยังประเทศต่าง ๆ เช่น สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์สหรัฐอเมริกา มาเลเซีย เป็นต้น

หากผู้รับฝากสินค้าขายสินค้าไม่ได้ บริษัทฯ จะมีการนำสินค้ากลับเข้าในประเทศภายในระยะเวลาไม่เกินหนึ่งปีนับแต่วันส่งสินค้าออกไปฝากขายจึงหารือว่า กรณีการทำสัญญาฝากขายสินค้าดังกล่าวบริษัทฯ ต้องรับรู้รายได้ในการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลอย่างไร นั้น

 

 

กรณีบริษัทฯ ส่งสินค้าออกไปต่างประเทศให้แก่ผู้รับฝากสินค้าซึ่งเป็นคู่ค้าในต่างประเทศตามสัญญาฝากขายสินค้า ถือได้ว่าการที่ได้ส่งสินค้าไปนั้น เป็นการขายในประเทศไทยและให้ถือราคาสินค้าตามราคาตลาดในวันที่ส่งไปเป็นรายได้ในรอบระยะเวลาบัญชีที่ส่งไปนั้นตามมาตรา ๗๐ ตรี แห่งประมวลรัษฎากร

และบริษัทฯ มีสิทธินำต้นทุนสินค้าดังกล่าวมาหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิ หากผู้รับฝากสินค้าขายสินค้าไม่ได้และมีการส่งสินค้าดังกล่าวกลับคืนให้แก่บริษัทฯในประเทศไทยภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่ส่งสินค้าออกไปต่างประเทศนั้น กรณีดังกล่าวไม่ถือเป็นการขายสินค้าในประเทศ ทั้งนี้ ตามมาตรา ๗๐ ตรี วรรคสอง (๔) แห่งประมวลรัษฎากร

บริษัทฯ สามารถปรับปรุงยอดขายตามตามแบบแสดงรายการที่ได้ยื่นเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในรอบระยะเวลาบัญชีที่ส่งออกนั้น และนำสินค้าที่ส่งกลับคืนดังกล่าวมาคำนวณราคาสินค้าคงเหลือในวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชี ตามมาตรา ๖๕ ทวิ (๖) แห่งประมวลรัษฎากร

Related Articles | บทความที่คุณอาจสนใจ

การค้นหาที่เกี่ยวข้องกับ บัญชี ภาษี สินค้าฝากขาย การฝากขายสินค้า ภาษี สัญญาฝากขาย สรรพากร การวางบิลสินค้าฝากขาย ฝาก ขาย กับ ภาษี สัญญาการฝากขายสินค้า ใบ กำกับ ภาษี รับ ฝาก ขาย มาตรฐานการบัญชีฝากขาย สินค้าฝากขาย บันทึกบัญชี

Bee-Accountant service

Our mission

Bee Accountant ยึดมั่นในความถูกต้อง โปร่งใส ตรงเวลา งานได้คุณภาพ ตรวจสอบได้จากทุกหน่วยงาน เช่นกรมสรรพากร กรมพัฒนาธุรกิจการค้า  คปภ และหน่วยงานอื่นๆ

สำนักงานบัญชี BEE-Accountant
บริษัท บี.อี. แอคเคาน์ติ้ง เซอร์วิสเซส จำกัด
สำนักงานใหญ่ TAX ID 0105561120432

Contact us

Post Views: 30,239

BeE Accountant

we'd love to have your feedback on your experience so far

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

บันทึกการตั้งค่า