Skip to content

รายจ่ายฝ่ายทุน คือ ทรัพย์สิน หรือ ค่าใช้จ่ายประจำงวด?

รายจ่ายฝ่ายทุน คือ ทรัพย์สิน หรือ ค่าใช้จ่ายประจำงวด?

รับทำบัญชี กิจการซื้อมาขายรายจ่ายฝ่ายทุน คือ ทรัพย์สิน หรือ ค่าใช้จ่ายประจำงวด?

            ปัญหาในการพิจารณาว่า รายจ่ายใดเป็นรายจ่ายในการดำเนินงานที่จะตัดจ่ายในปีที่เกิดรายจ่ายได้   เป็นค่าใช้จ่ายในในรอบระยะเวลาบัญชีทีเกิดรายจ่ายนั้นเลย

            กับรายจ่ายใดเป็น รายจ่ายฝ่ายทุน ที่ต้องบันทึกตั้งเป็นทรัพย์สิน และหักค่าใช้จ่ายในบัญชี ค่าเสื่อมราคา / ค่าเสื่อมราคาสะสม / มีมูลค่าซาก

           ยังคงเป็นหัวข้อให้โต้แย้งเสมอ แม้รายการหลักๆ ที่ชัดเจนแล้วจะไม่ก่อให้เกิดปัญหาดังกล่าวก็ตาม แต่รายการรายจ่ายบางรายการอาจเป็นปัญหา เช่น รายจ่ายค่าซ่อมแซม บำรุงรักษา รวมทั้งประเด็นดอกเบี้ยจ่ายเพื่อการได้มาซึ่งทรัพย์สิน

          จำนวนแค่ไหนที่ต้องนำมารวมเป็นต้นทุนทรัพย์สิน จำนวนแค่ไหนที่สามารถตัดเป็นรายจ่ายในรอบระยะเยเวลาบัญชีที่เกิดรายจ่ายได้ เป็นต้น

          บางกิจการมีนโยบายว่า สินทรัพย์ที่ซื้อมาถ้าราคาต่ำว่า 2,000 บาท ให้บันทึกเป็นค่าใช้จ่ายประจำรอบบัญชี ไม่บันทึกเป็น รายจ่ายฝ่ายทุน ถูกต้องสมควรตามการพิจารณาของกรมสรรพากรหรือไม่

         หรือในบางกิจการ รายการจ่ายซื้อสินทรัพย์มีมากมาย มูลค่าต่อชิ้นไม่มาก เช่น กิจการโรงแรม ภัตตาคาร ร้านอาหาร คลินิก เช่น จาน ช้อน ส้อม ผ้าปูโต๊ะ ถาดอาหาร ถาดใส่เครื่องมือแพทย์  เหล่านี้ ควรต้องบันทึกเป็นรายจ่ายฝ่ายทุน หรือ ค่าใช้จ่ายประจำรอบบัญชี และควรบันทึกอย่างไรให้ถูกต้อง

          จึงขอนำมาเป็นประเด็นปุจฉา – วิสัชนา ดังนี้

รายจ่ายฝ่ายทุน คือ ทรัพย์สิน หรือ ค่าใช้จ่ายประจำงวด?
กรรมการกู้ยืมเงินแทนบริษัท: ดอกเบี้ยจ่ายเป็นค่าใช้จ่ายกิจการ ?

สำนักงานบัญชี BEE-Accountant

รับทำบัญชีกิจการซื้อมาขายไป ปิดงบ ยื่นภาษี รับตรวจสอบบัญชี คุณภาพดีตรงต่อเวลา มีขั้นตอนการทำงานเป็นระบบระเบียบ เอกสารประกอบการรับทำบัญชี ชัดเจนกับผู้ปฎิบัติงาน และกิจการการที่เป็นลูกค้า  รับสอบการทำบัญชี โดยโปรแกรม express  ตัวอย่างหัวข้อการสอน Click

ข้อมูลเพิ่มเติม

รายจ่ายฝ่ายทุน คือ ทรัพย์สิน หรือ ค่าใช้จ่ายประจำงวด?​

รายจ่ายฝ่ายทุน : ถามตอบ

รายจ่ายฝ่ายทุนหรือรายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการลงทุนแตกต่างจากรายจ่านในการดำเนินงานอย่างไร

ประเภทรายจ่ายทั้งสองดังกล่าวเป็นไปเพื่อประโยชน์ในการคำนวณกำไรสุทธิหรือขาดทุนสุทธิทั้งในทางบัญชีและภาษีอากร ซึ่งอาจกล่าวโดยสรุปเกี่ยวกับรายจ่ายทั้งสองประเภทได้ดังนี้

  1. รายจ่ายฝ่ายทุนหรืออันมีลักษณะเป็นการลงทุน (Capital Expenditure)

    หมายถึง รายจ่ายเพื่อการได้มาซึ่งทรัพย์สินที่จะนำมาใช้ในการดำเนินการหรือเพื่อการหารายได้ ซึ่งอาจแบ่งย่อยเป็น

         (1) ทรัพย์สินถาวรที่มีรูปร่าง เช่น ที่ดิน อาคาร เครื่องจักร เครื่องใช้สำนักงาน เป็นต้น

         (2) ทรัพย์สินถาวรที่ไม่มีรูปร่าง เช่น ค่าลิขสิทธิ์ สิทธิการเช่า ค่าสัมปทาน ต้นทุนเพื่อการได้มาซึ่งสิทธิทั้งปวง เป็นต้น

  1. รายจ่ายในการดำเนินกิจการ หมายถึง รายจ่ายในการดำเนินธุรกิจอันก่อให้เกิดรายได้ ซึ่งโดยทั่วไปเมื่อจ่ายรายจ่ายดังกล่าว บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลจะไม่ได้รับกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินใดๆ หากแต่ใช่สิ้นเปลืองหมดไป เช่น เงินเดือน ค่าจ้าง ค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้า ค่าโทรศัพท์ ค่าเครื่องเขียนแบบพิมพ์ เป็นต้น หรือแม้ได้กรรมสิทธิ์มาเป็นทรัพย์สินก็จะมีอายุการใช้งานไม่เกินหนึ่งรอบระยะเวลาบัญชี (12 เดือน) เช่น ไม้กวาด กระดาษชำระ น้ำยาทำความสะอาด เป็นต้น

รายจ่ายฝ่ายทุนหรือรายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการลงทุนมีคุณสมบัติอย่างไร

คุณสมบัติของรายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการลงทุน มีดังนี้

  1. เป็นรายจ่ายที่ก่อให้เกิดกรรมสิทธิ์หรือสิทธิใดๆ (Ownership Principle) ในทรัพย์สินแก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ไม่ว่าจะเป็นทรัพย์สินที่มีรูปร่างหรือไม่มีรูปร่างก็ตาม รวมทั้งสิทธิอื่นๆ อาทิ สิทธิการเช่า สิทธิการใช้งานในโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ซึ่งในทางกฎหมายภาษีอากรเรียกว่า “เป็นรายจ่ายที่ก่อให้เกิดทุนรอน” แก่กิจการ รวมทั้งรายจ่ายในการต่อเติม ค่าเปลี่ยนแปลงสภาพของทรัพย์สิน รายจ่ายในการขยายออก และรายจ่ายในการทำให้ทรัพย์สินดีขึ้นกว่าวันที่ได้รับทรัพย์สินนั้นมา

  2. เป็นทรัพย์สินหรือแม้เป็นรายจ่ายที่จะไม่ก่อให้เกิดกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินหรือสิทธิใดๆ แต่มีอายุการใช้งานเกินกว่าหนึ่งรอบระยะเวลาบัญชี ตามหลักประโยชน์ใช้สอย (Benefit Principle) ซึ่งตามหลักการบัญชีกำหนดให้นำมาบันทึกบัญชีเป็นทรัพย์สิน และตัดค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคา อันตรงกันกับข้อกำหนดทางภาษีอากรตามประมวลรัษฎากรที่ห้ามมิให้นำมาถือเป็นรายจ่ายในการดำเนินงาน ตามมาตรา65 ตรี (5) แห่งประมวลรัษฎากร แต่ยอมให้นำมาหักเป็นรายจ่ายในรูปของค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในมาตรา 65 ทวิ (2) แห่งประมวลรัษฎากร และพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 145) พ.ศ.2527

  3. เป็นรายจ่ายที่มีนัยสำคัญ (Material Principle) กล่าวคือ เป็นรายจ่ายที่มีจำนวนเงินมากเพียงพอที่จะรับรู้เป็นทรัพย์สินของกิจการ เช่น จำนวนเงินที่จะรับรู้เป็นทรัพย์สินต้องมีจำนวนตั้งแต่เท่านั้นเท่านี้ อาทิ ไม่น้อยกว่า 2,000 บาท หรือ 10,000 บาท แล้วแต่กรณี ซึ่งเงื่อนไขหรือคุณสมบัติในประการนี้ ไม่เป็นที่ยอมรับในทางภาษีอากร

ส่วนประกอบของรายจ่ายฝ่ายทุน ต้นทุนเพื่อการได้มาซึ่งทรัพย์สิน

ตามมาตรา 65 ตรี (5) แห่งประมวลรัษฎากร บัญญัติห้ามมิให้นำรายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการลงทุน รวมทั้งเกี่ยวเนื่องกับรายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการลงทุนดังต่อไปนี้  มาถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิ (ทางภาษีอากร) เพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ซึ่งสอดคล้องกับหลักเกณฑ์ในทางบัญชีอย่างยิ่ง

          (1) ต้นทุนเพื่อการได้มาซึ่งทรัพย์สิน (Cost of Acquisition of Asset) หมายถึง ต้นทุนในการซื้อทรัพย์สิน รวมทั้งรายจ่ายเพื่อการได้มาซึ่งทรัพย์สินดังนี้ 

                (ก) ค่าซื้อทรัพย์สิน ต้นทุนทรัพย์สินที่ได้จากการแลกเปลี่ยน

                (ข) ค่าอากรขาเข้า  ค่าภาษีสรรพสามิต ค่าธรรมเนียมตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน ค่าธรรมเนียมตามกฎหมายที่ดิน

                (ค) ค่าภาษีมูลค่าเพิ่ม เฉพาะสำหรับสินค้าบางประเภท เช่น รถยนต์นั่งหรือรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คนตามกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต รวมทั้งทรัพย์สินที่มิได้มีไว้เพื่อการประกอบกิจการที่อยู่ในข่ายต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม   เช่น   กิจการธนาคารพาณิชย์  กิจการเงินทุน  กิจการหลักทรัพย์ กิจการเครดิตฟองซิเอร์ กิจการประกันภัย กิจการโรงรับจำนำ กิจการค้าอสังหาริมทรัพย์ และกิจการที่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มอื่นๆ

                (ง) ค่าขนส่งขาเข้า (Transportation Fee)

                (จ) ค่าใช้จ่ายในการติดตั้ง (Installation Fee)

                (ฉ) ค่าใช้จ่ายในการทดลองเดินเครื่องจักร (Running Test) หักด้วยรายได้จากการขายผลิตผลที่ได้จากการทดลองเดินเครื่อง (By Product)   

                (ช) ค่าโสหุ้ยต่างๆ (Overhead) 

                (ซ) ต้นทุนเพื่อการได้มาซึ่งแหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่สูญสิ้นไปได้

                (ฌ) ต้นทุนเพื่อการได้มาซึ่งสิทธิการเช่า อาทิ เงินกินเปล่า เงินช่วยค่าก่อสร้าง ค่าแห่งอาคารหรือโรงเรือนที่ได้โอนเป็นกรรมสิทธิ์ของเจ้าของที่ดินเมื่อสร้างเสร็จ ซึ่งตอบแทนสิทธิการเช่าอันมีระยะเวลา

                (ญ) ต้นทุนเพื่อการได้มาซึ่งสิทธิในกรรมวิธี สูตร กู๊ดวิล เครื่องหมายการค้า สิทธิบัตร สิทธิประกอบกิจการตามใบอนุญาต ลิขสิทธิ์ หรือสิทธิอย่างอื่น

ส่วนประกอบของรายจ่ายฝ่ายทุน รายจ่ายในการต่อเติม (Addition)

          (2) รายจ่ายในการต่อเติม (Addition) หมายถึง รายจ่ายเพื่อการต่อเติมส่วนต่างๆ ของทรัพย์สินซึ่งมักเป็นการต่อเติมส่วนบนของทรัพย์สิน เช่น รายจ่ายในการต่อเติมอาคารจากเดิมซึ่งมีสี่ชั้นเป็นหกชั้น ค่าต่อเติมหลังคาของรถกระบะ ค่าต่อเติมอุปกรณ์ เครื่องมือ เครื่องใช้ เป็นต้น

ส่วนประกอบของรายจ่ายฝ่ายทุน รายจ่ายในการเปลี่ยนแปลง (Alteration)

          (3) รายจ่ายในการเปลี่ยนแปลง (Alteration) หมายถึง รายจ่ายในการเปลี่ยนแปลงสภาพของทรัพย์สิน เช่น รายจ่ายในการกั้นห้อง ค่าทุบทำลายฝากั้นห้อง เจาะประตู หน้าต่าง ค่าใช้จ่ายในการดัดแปลงรถยนต์บรรทุกหรือรถยนต์โดยสารให้เป็นรถยนต์นั่ง เป็นต้น

ส่วนประกอบของรายจ่ายฝ่ายทุน รายจ่ายในการขยายออก (Extension)

          (4) รายจ่ายในการขยายออก (Extension) หมายถึง รายจ่ายในการขยายทรัพย์สินออกไป ซึ่งมักขยายออกไปทางด้านข้าง เช่น รายจ่ายในการขยายอาคารโรงงาน เป็นต้น

ส่วนประกอบของรายจ่ายฝ่ายทุน รายจ่ายในการทำให้ดีขึ้นซึ่งทรัพย์สิน แต่มิใช่เป็นการซ่อมแซมให้คงสภาพเดิม (Betterment)

รายจ่ายในการทำให้ดีขึ้นซึ่งทรัพย์สิน แต่มิใช่เป็นการซ่อมแซมให้คงสภาพเดิม

(Betterment) หมายถึง รายจ่ายในการทำให้คุณภาพ หรือสภาพของทรัพย์สินดีขึ้นไปกว่าสภาพ ณ วันที่ได้ทรัพย์สินนั้นมาที่มิใช่เป็นการซ่อมแซมให้คงสภาพเดิม แม้จะไม่มีการเปลี่ยนแปลงสภาพทางกายภาพ (Physical) ของทรัพย์สิน

เช่น รายจ่ายในการเปลี่ยน software คอมพิวเตอร์ หรือโปรแกรมสั่งงานหรือควบคุมเครื่องจักร   ค่าเปลี่ยนกระทะครอบล้อรถทั่วไปเป็นแมกเนติกที่ไม่เป็นสนิม

กรณีซื้อบ้านหรือรับโอนบ้านหรืออาคารเก่ามาจากบุคคลอื่น ต่อมาได้ทำการปรับปรุงโดยการทาสีใหม่ หรือซ่อมเสริมส่วนที่ชำรุด หรือกรณีซื้อรถยนต์หรือเครื่องยนต์เก่ามาทำการปรับปรุง เปลี่ยนแปลง อันมีผลให้สภาพของรถยนต์หรือเครื่องจักรดีขึ้น เป็นต้น 

ส่วนประกอบของรายจ่ายฝ่ายทุน ดอกเบี้ยจ่าย

ดอกเบี้ย (Interest Expense) จากการกู้ยืมเงินที่ได้จ่ายไปในระหว่างซื้อทรัพย์สินหรือก่อสร้างอาคารหรืออสังหาริมทรัพย์ จนกระทั่งทรัพย์สิน หรืออาคาร หรืออสังหาริมทรัพย์นั้นพร้อมที่จะใช้งาน รวมทั้งดอกเบี้ยเนื่องจากการกู้ยืมเงินเพื่อการซื้อที่ดิน

ความแตกต่าง ค่าซ่อมแซม และ รายจ่ายฝ่ายทุน

รายจ่ายในการทำให้ดีขึ้นซึ่งทรัพย์สิน มีลักษณะใกล้เคียงกับค่าซ่อมแซมทรัพย์สินให้คงสภาพเดิม


หลักในการพิจารณาค่าซ่อมแซม เพื่อบันทึกเป็นค่าใช้จ่ายประจำงวด คือ

ต้องเป็นรายจ่ายที่ใช้ในการซ่อมแซมส่วนที่ชำรุดสึกหรอของทรัพย์สิน โดยไม่ทำให้ทรัพย์สินนั้นมีสภาพดีกว่าสภาพเดิม ณ วันที่ได้ทรัพย์สินนั้นมา คือซ่อมให้ใช้งานต่อเนื่องได้ตามสภาพปัจจุบัน

เช่น ซ่อมรถยนต์ใหม่มาใช้งานในกิจการ การเปลี่ยนยางรถยนต์ใหม่แทนของเก่าที่ใช้งานมานาน หรือการซ่อมแซมทรัพย์สินแตกหัก ให้กับมาใช้งานได้ เปลี่ยนล้ออุปกรณ์เครื่องเลเซอร์ เปลี่ยนบานพับประตู

แต่ถ้ามีการเปลี่ยนเครื่องยนต์ จากน้ำมัน เป็นติดแก๊สเพื่อให้ประหยัดพลังงาน ลดค่าใช้จ่าย กรณีนี้เป็นการเปลี่ยนแปลงที่ทำให้ทรัพย์สินใช้งานได้ดีขึ้น ถือว่าเป็นการลงทุนในทรัพย์สิน คิดค่าใช้จ่ายเป็นค่าเสื่อมราคา

ทรัพย์สินที่ยังสร้างไม่เสร็จ

ทรัพย์สินที่ยังสร้างไม่เสร็จ เช่น บริษัทฯ ก่อสร้างไซโลปูนเม็ดลงเรือทะเล เพื่อใช้ในการขนถ่ายซีเมนต์ไปจำหน่ายในต่างประเทศ แต่สร้างไม่เสร็จ เนื่องจากเศรษฐกิจเปลี่ยนแปลง จึงได้พักการก่อสร้างไว้ และต่อมาก็ไม่ได้ก่อสร้างต่อ สิ่งก่อสร้างดังกล่าวใช้ประโยชน์ใดๆ ไม่ได้เลย เช่นนี้

ค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างไซโลดังกล่าว ถือเป็นรายข่ายอันมีลักษณะเป็นการลงทุนตามมาตรา 65 ตรี (5) แห่งประมวลรัษฎากร

และไม่อาจนำมาหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคา เพราะยังสร้างไม่แล้วเสร็จ บริษัทฯ จึงไม่ได้ประโยชน์ในทรัพย์สินนั้น 

แต่อย่างไรก็ตามหากบริษัทฯ รื้อหรือทำลายสิ่งก่อสร้างดังกล่าวในรอบระยะเวลาบัญชีใด ก็ย่อมนำมูลค่าสิ่งก่อสร้างมาหักเป็นรายจ่ายได้ทั้งหมดในรอบระยะเวลาบัญชีนั้น  

ปัญหาดอกเบี้ยเงินกู้ยืมเพื่อใช้ในการลงทุนในทรัพย์สินเป็นต้นทุนสินทรัพย์ หรือเป็นค่าใช้จ่ายประจำรอบ

อธิบดีกรมสรรพากรได้กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับดอกเบี้ยเงินกู้ยืมเพื่อซื้อหรือให้ได้มาซึ่งทรัพย์สินของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 92) ลงวันที่ 16 มีนาคม 2544 ไว้ดังต่อไปนี้

  1. ดอกเบี้ยเงินกู้ยืมเพื่อซื้อหรือให้ได้มาซึ่งทรัพย์สินต้องเป็นดอกเบี้ยที่เกิดขึ้นโดยตรงเนื่องจากการดำเนินธุรกิจการค้าหรือวิชาชีพหรือเกี่ยวเนื่องโดยตรงต่อทรัพย์สินที่ก่อให้เกิดรายได้
  2. ดอกเบี้ยเงินกู้ยืมเพื่อซื้อหรือให้ได้มาซึ่งทรัพย์สินเกิดขึ้นในรอบระยะเวลาบัญชีใด ให้ปฏิบัติดังนี้

         (1) ดอกเบี้ยเงินกู้ยืมที่เกิดขึ้นก่อนวันที่ทรัพย์สินนั้นอยู่ในสภาพพร้อมที่จะใช้ได้ตามประสงค์ ให้ถือเป็นต้นทุนของทรัพย์สินหรือรายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการลงทุน

         (2) ดอกเบี้ยเงินกู้ยืมที่เกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ทรัพย์สินนั้นอยู่ในสภาพพร้อมที่จะใช้ได้ตามประสงค์ ให้ได้รับสิทธิยกเว้นภาษี

         กรณีที่เงินกู้มานั้นได้นำไปใช้เพื่อซื้อหรือให้ได้มาซึ่งทรัพย์สินหรือใช้ใน    กิจการอื่น ๆ รวมกัน ในการคำนวณตาม (1) และหรือ (2) ให้นำดอกเบี้ยเงินกู้ยืมเฉพาะในส่วนที่   เกี่ยวกับการซื้อหรือให้ได้มาซึ่งทรัพย์สินมาคำนวณเท่านั้น

  1. เมื่อได้ปฏิบัติตามข้อ 2(2) แล้ว บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลจะต้องไม่นำดอกเบี้ยเงินกู้ยืมดังกล่าวไปรวมคำนวณเป็นต้นทุนของทรัพย์สินหรือรายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการลงทุน หรือไปหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลอีก

รายจ่ายในการก่อตั้งบริษัท หรือรายจ่ายเกิดก่อนการก่อตั้งบริษัท แต่เพื่อกิจการ

ค่าธรรมเนียม เช่น ฎีกาที่ 2510/2530 บริษัทธีรชัยสตีล จำกัด โจทก์ กรมสรรพากร จำเลย ค่าซื้อที่ดินเป็นรายจ่ายลงทุน ค่าธรรมเนียมการโอนที่ดินก็เช่นกัน จึงถือเป็นรายจ่ายต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี (5) แห่งประมวลรัษฎากร  

     รายจ่ายในการก่อตั้งบริษัทฯ เช่น รายจ่ายในการก่อตั้งบริษัทฯ หากมีลักษณะเป็นการลงทุน เช่น ค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทฯ ถือเป็นรายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการลงทุน ตามมาตรา 65 ตรี (5) แห่งประมวลรัษฎากร ต้องหักค่าเสื่อมราคา (ต้นทุนเพื่อการได้มาซึ่งสิทธิประกอบการตามใบอนุญาตหรือสิทธิอย่างอื่น)

          สำหรับรายจ่ายก่อนก่อตั้งบริษัทฯ ในส่วนที่ถือเป็นรายจ่ายในการดำเนินงานซึ่งบริษัทฯ ได้ให้สัตยาบรรณตามมาตรา 1018 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์แล้ว ให้นำไปหักเป็นรายจ่ายได้ทั้งหมดในรอบระยะเวลาบัญชีปีแรก ไม่ต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี (13) แห่งประมวลรัษฎาก

เงินกินเปล่าที่ผู้เช่าจ่ายให้แก่ผู้ให้เช่า

เงินกินเปล่าที่ผู้เช่าจ่ายให้แก่ผู้ให้เช่า ถือเป็นต้นทุนเพื่อการได้มาซึ่งสิทธิการเช่า ซึ่งเป็นรายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการลงทุน ตามมาตรา 65 ตรี (5) แห่งประมวลรัษฎากร และยอมให้หักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาได้ตามจำนวนปีแห่งอายุการเช่า   

ค่าใช้จ่ายในการรื้อถอนทรัพย์สินสัมพันธ์กับรายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการลงทุนอย่างไร

กรมสรรพากรวางแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายในการรื้อถอนทรัพย์สินดังนี้

  1. ทรัพย์สินที่สร้างขึ้นใหม่แทนทรัพย์สินเดิมที่รื้อถอนออกไปรวมทั้งค่าใช้จ่ายในการรื้อถอนและค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างทรัพย์สินใหม่ เป็นรายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการลงทุน หรือรายจ่ายในการต่อเติม เปลี่ยนแปลง ขยายออก หรือทำให้ดีขึ้นซึ่งทรัพย์สินตามมาตรา 65 ตรี (5) แห่งประมวลรัษฎากร (หนังสือกรมสรรพากรที่ 11.30/2522 ลงวันที่ 25 ตุลาคม 2522)

  1. บริษัทฯ ขยายกิจการ จำเป็นต้องรื้อถอนทรัพย์สินเพื่อก่อสร้างทรัพย์สินขึ้นใหม่ ให้ถือปฏิบัติดังนี้


         (1) ทรัพย์สินที่รื้อถอนให้หักเป็นรายจ่ายเท่ากับมูลค่าต้นทุนของทรัพย์สินที่เหนืออยู่หลังจากหักค่าสึกหรือและค่าเสื่อมราคาแล้ว ถือเป็นค่าของทรัพย์สินที่สูญหรือสิ้นไปตามมาตรา 65 ตรี (16) แห่งประมวลรัษฎากร

         (2) รายจ่ายในการรื้อถอนและรายจ่ายที่ก่อสร้างทรัพย์สินใหม่เป็นรายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการลงทุนตามมาตรา 65 ตรี (5) แห่งประมวลรัษฎากร (หนังสือกรมสรรพากรที่ กค 0804/16139 ลงวันที่ 11 สิงหาคม 2523)

ค่าใช้จ่ายในการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์

ค่าใช้จ่ายในการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ เป็นรายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการลงทุนตามมาตรา 65 ตรี (5) แห่งประมวลรัษฎากร (หนังสือกรมสรรพากรที่ กค 0802/6413 ลงวันที่ 28 พฤษภาคม 2529)

ค่าซื้อรถยนต์โดยการเช่าซื้อ

ค่าซื้อรถยนต์โดยการเช่าซื้อ ราคาที่ผ่อนชำระและดอกเบี้ยถือเป็นรายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการลงทุนตามมาตรา 65 ตรี (5) แห่งประมวลรัษฎากร (หนังสือกรมสรรพากรที่ กค 0802/2114  ลงวันที่ 30 มกราคม 2524) ซึ่งยอมให้หักค่าสือหรอและค่าเสื่อมราคาจากมูลค่าต้นทุนตามราคาที่พึงต้องชำระทั้งหมด แต่ค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาทั้งสิ้นต้องไม่เกินค่าเช่าซื้อตามพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 145) พ.ศ.2527

มูลค่าของทรัพย์สิน มีผลต่อการเลือกที่จะบันทึกบัญชีรับรู้เป็นรายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการลงทุน และรายจ่ายในการดำเนินกิจการหรือไม่อย่างไร

ในทางภาษีอากรไม่คำนึงถึงมูลค่าของทรัพย์สินที่จะบันทึกบัญชีรับรู้เป็นรายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการลงทุน และรายจ่ายในการดำเนินกิจการ

ดังเช่นในหลักการทางบัญชีที่รับรองทั่วไปที่มีแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับความมีนัยสำคัญของจำนวนเงินที่จะรับรู้เป็นทรัพย์สิน ซึ่งขึ้นอยู่กับนโยบายทางบัญชีของแต่ละกิจการ ตัวอย่างเช่น    

     แม้ทรัพย์สินของบริษัทฯ จะมีมูลค่าเป็นจำนวนมากถึง 726 ล้านบาท  บริษัทฯ ก็ไม่อาจนำทรัพย์สินแต่ละรายการที่มีค่าไม่เกิน 2,000 บาท ซึ่งถือว่าเป็นมูลค่าเล็กน้อยมาถือเป็นรายจ่ายทั้งจำนวนได้เพราะต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี (5) แห่งประมวลรัษฎากร

     แต่เพื่อความสะดวกในทางปฏิบัติบริษัทฯ จะนำทรัพย์สินที่ได้มาใหม่ ไม่ว่าจะมีมูลค่าเกินกว่า 2,000 บาทหรือต่ำกว่า 2,000 บาท มาตั้งเป็นบัญชี ทรัพย์สินกลุ่มเดียวกันในบัญชีเดียวกันได้ และในการหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาในรอบระยะเวลาบัญชีปีแรกที่ได้ทรัพย๎สินนั้นมา ให้คำนวณหักตามส่วนเฉลี่ยแห่งระยะเวลาที่ได้ทรัพย์สินนั้นมา  (ทีละรายการ)

      ส่วนในปีต่อๆ ไป บริษัทฯ สามารถคิดค่าสึกหรือและค่าเสื่อมราคาจากยอดรวมทรัพย์สินกลุ่มนั้นได้เต็มปี และถ้าหากทรัพย์สินรายการใดเสื่อมสภาพหรือสูญหาย บริษัทฯ ก็สามารถตัดหรือจำหน่ายเฉพาะรายการนั้นออกจากบัญชีทรัพย์สิน(เพื่อถือเป็นรายจ่าย) ตามยอดคงเหลือในบัญชีได้ (หนังสือตอบกรมสรรพากรที่ กค 0810/542 ลงวันที่ 14 มกราคม 2518 )

ค่าธรรมเนียม ค่าอากรในการรับโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดในอาคารชุด

ค่าธรรมเนียม ค่าอากรในการรับโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดในอาคารชุด เป็นรายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการลงทุนตามมาตรา 65 ตรี (5) แห่งประมวลรัษฎากร (หนังสือกรมสรรพากรที่ กค 0802/420 ลงวันที่ 16 มกราคม 2532)


ค่าธรรมเนียมในการจำนองที่ดินที่บริษัทฯ จ่ายให้ธนาคารเพื่อนำไปปลูกสร้างอาคาร ถือเป็นรายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการลงทุนตามมาตรา 65 ตรี (5) แห่งประมวลรัษฎากร (หนังสือกรมสรรพากรที่ กค 0802/5822 ลงวันที่ 1 พฤษภาคม 2532)

ลักษณะรายจ่ายเพื่อการดำเนินงาน แตกต่างจาก รายจ่ายฝ่ายทุน

กรณีเปลี่ยนยางรถยนต์ใหม่พร้อมกันทั้ง 4 เส้น รถใหม่ยางใหม่ รถเก่ายางเก่า

ปุจฉา กรณีเปลี่ยนยางรถยนต์ใหม่พร้อมกันทั้ง 4 เส้น จะถือเป็นรายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการลงทุนหรือรายจ่ายในการดำเนินงาน  

วิสัชนา โดยทั่วไปรายจ่ายดังกล่าวถือเป็นรายจ่ายในการดำเนินงาน แม้ยางรถยนต์ที่เปลี่ยนใหม่จะดีกว่าเส้นที่เปลี่ยนออกไป แต่ก็ไม่ทำให้สภาพของรถยนต์โดยรวมดีกว่าวันที่ได้รับมาเป็นทรัพย์สิน จึงไม่เข้าลักษณะเป็นรายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการลงทุน

     อย่างไรก็ตาม ถ้าข้อเท็จจริงในกรณีนี้เพิ่มเติมเป็นว่า รถยนต์คันดังกล่าวเป็นรถมือสองที่สภาพยางรถยนต์ในขณะที่ซื้อมานั้น ได้ผ่านการใช้งานมาแล้วช่วงเวลาหนึ่ง มิใช่ยางใหม่ ในกรณีนี้ ยางรถยนต์ทั้ง 4 เส้นที่เปลี่ยนใหม่ มีผลทำให้สภาพของรถยนต์โดยเฉพาะในส่วนที่เป็นยางรถยนต์ดีขึ้นกว่าวันที่ได้ทรัพย์สินนั้นมา จึงต้องถือเป็นรายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการลงทุน

     ต่อมาหามีการเปลี่ยนยางรถยนต์อีกเป็นคำรบที่สองจึงจะถือเป็นรายจ่ายในการดำเนินดังเช่นกรณีที่ซื้อรถคันใหม่ตามที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น

โปรแกรมคอมพิวเตอร์สำเร็จรูป

ปุจฉา โปรแกรมคอมพิวเตอร์สำเร็จรูปที่บริษัทฯ ได้ load ใส่เข้าในเครื่องคอมพิวเตอร์ เพื่อการใช้งานแทนโปรแกรมเดิมที่ล้าสมัยไป ถือเป็นรายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการลงทุนหรือรายจ่ายในการดำเนินงาน และในส่วนของโปรแกรมเก่าที่เลิกใช้มีแนวทางปฏิบัติอย่างไร


วิสัชนา โปรแกรมคอมพิวเตอร์ดังกล่าว ถือเป็นรายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการลงทุน โดยถือเป็นทรัพย์สินรายการใหม่ ที่ต้องแยกเพื่อการหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคา

     สำหรับโปรแกรมเดิมให้แยกพิจารณาดังนี้

  1. ในกรณีที่เป็นโปรแกรมที่มีมาพร้อมกับเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ไม่อาจจำแนกราคาหรือมูลค่าได้แน่นอน ก็ไม่ต้องดำเนินการใดๆ กับโปรแกรมเก่าที่ถูกเปลี่ยนออกไป เนื่องจากไม่สามารถที่จะดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดได้


  2. ในกรณีที่สามารถแยกมูลค่าของโปรแกรมเดิมได้อย่างชัดแจ้ง หากลบทำลาย (Delete) ทิ้งไปก็ให้นำมูลค่าส่วนที่เหลือมาถือเป็นรายจ่ายในการดำเนินงาน ทั้งนี้โดยต้องมีหลักฐานตามสมควรแก่กรณี แต่ถ้ายังไม่ลบทำลาย (Delete) ออกไป ก็ให้ยังคงคิดค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาต่อไปตามคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป 58/2538

การปรับปรุงภูมิทัศน์ เปลี่ยนหลังคาทาสีใหม่

ปุจฉา ข้อเท็จจริงมีว่า บริษัทประมูลบ้านพักชายทะเลมาจากการขายทอดตลาด ต่อมาอีกสองปีจึงได้ทำการปรับปรุงภูมิทัศน์ เปลี่ยนหลังคาทาสีใหม่ รายจ่ายดังกล่าวถือเป็นรายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการลงทุนหรือรายจ่ายในการดำเนินงาน

วิสัชนา รายจ่ายดังกล่าวถือเป็นรายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการลงทุนทั้งจำนวน เนื่องจากรายการรายจ่ายดังกล่าว เป็นรายจ่ายในการทำให้ทรัพย์สินมีสภาพดีกว่าวันที่ได้รับทรัพย์สินนั้นมา

โดยพิจารณาแยกเป็นในส่วนของค่าปรับปรุงภูมิทัศน์จัดสวนหย่อม เป็นทรัพย์สินอย่างอื่น ซึ่งในมาคำนวณหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาอย่างน้อย 5 ปี

และในส่วนที่เป็นรายจ่ายในการเปลี่ยนหลังคาทาสีอาคารใหม่เป็นค่าอาคาร ซึ่งนำคำนวณหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาอย่างน้อย 20 ปี

    อนึ่ง หากได้มีการเปลี่ยนหลังคาทาสีครั้งต่อไป ก็ให้ถือเป็นค่าซ่อมแซมทรัพย์สินใหคงสภาพเดิม

กรณีทาสีภายในอาคาร กับกรณีเปลี่ยนจากทาสีเป็นปิดวอลล์เปเปอร์

ปุจฉา กรณีทาสีภายในอาคาร กับกรณีเปลี่ยนจากทาสีเป็นปิดวอลล์เปเปอร์ มีผลแตกต่างกันอย่างไร

 

วิสัชนา กรณีทาสีทับสีเดิม ให้ถือเป็นการซ่อมแซมทรัพย์สินให้คงสภาพเดิม เพราะการทาสีย่อมไม่ทำให้สีที่ทาใหม่หรือดีขึ้นกว่าวันที่ได้ทรัพย์สินนั้นมา แต่สำหรับค่าใช้จ่ายในการปิดวอลล์เปเปอร์นั้น ถือเป็นรายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการลงทุน และเป็นทรัพย์สินรายการใหม่เพื่อการคำนวณหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคา

ค่าธรรมเนียมในการจัดตั้งบริษัท

ปุจฉา ค่าธรรมเนียมในการจัดตั้งบริษัท ค่าธรรมเนียมจดทะเบียในตลาดหลักทรัพย์ ค่าธรรมเนียมในการเพิ่มทุนหรือลดทุน ถือเป็นรายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการลงทุนหรือรายจ่ายในการดำเนินงาน

วิสัชนา ค่าธรรมที่ก่อให้เกิดสิทธิต่างๆ ดังกล่าว ถือเป็นรายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการลงทุน ต้องบันทึกเป็นทรัพย์สิน และคำนวณหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาไม่น้อยกว่า 10 ปี

.

ประมูลภาพเพื่อบริจาคเงินสมทบการกุศลสาธารณะ

ปุจฉา บริษัทฯ เข้าร่วมประมูลภาพเพื่อบริจาคเงินสมทบการกุศลสาธารณะทางรายการโทรทัศน์รายการหนึ่ง บริษัทฯ ชนะการประมูลด้วยยอดเงินบริจาค 2,500,000 บาท ได้รับภาพพระบรมสาทิสลักษณ์หนึ่งภาพ รายจ่ายดังกล่าว ถือเป็นรายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการลงทุนหรือรายจ่ายค่าการกุศลสาธารณะ

วิสัชนา รายจ่ายดังกล่าถือเป็นรายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการลงทุน เพราะบริษัทฯ ได้รับภาพอันเป็นทรัพย์สิน แม้จะมีมูลค่าสูงกว่าความเป็นจริง แต่ก็ได้มาโดยสุจริตเปิดเผย นำมาคำนวณหักค่าสึกหรอและค่าเสือมราคาได้ทั้งจำนวน

ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นก่อนเปิดบริษัทบันทึกเป็นค่าใช้จ่ายทางภาษีได้หรือไม่

Marnit Aongphisud ได้โพสต์ไปจากบริเวณ Bangkok เมื่อวันศุกร์ที่ 12 ก.ค. 2556 ว่า

“เรียนอาจารย์สุเทพครับ รบกวนสอบถามอาจารย์สุเทพประเด็นค่าใช้จ่ายก่อนการจัดตั้งกิจการ กรณีที่ผู้ถือหุ้นได้จ้างให้สำนักงานกฎหมายเป็นผู้ดำเนินการให้ และมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินการเกิดขึ้นก่อนที่บริษัทฯจะจัดตั้งเสร็จเรียบร้อย ซึ่งสำนักงานกฎหมายได้ระบุไว้ในรายงานการประชุมก่อตั้งบริษัทฯแล้ว

ประเด็นคำถามครับ

เอกสารค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นก่อนเปิดบริษัทฯเป็นใบแจ้งหนี้และใบเสร็จรับเงินที่ออกในนามผู้ถือหุ้นและผู้เริ่มก่อการ


อยากทราบว่าเอกสารดังกล่าวสามารถเป็นค่าใช้จ่ายทางภาษีได้หรือไม่ครับ หรือมีข้อควรระวังเรื่องเอกสารหลักฐานเป็นพิเศษหรือเปล่าครับ ขอขอบพระคุณล่วงหน้าสำหรับความรู้ และความคิดเห็นที่อาจารย์แบ่งปันนะครับ


เรียน Marnit Aongphisud

ประเด็นรายจ่ายก่อนการจัดตั้งกิจการบริษัทฯ หากที่ประชุมผู้ถือหุ้นมีมติอนุมัติให้ถือเป็นรายจ่ายในการดำเนินกิจการ บริษัทฯ ก็สามารถนำมาบันทึกเป็นรายจ่ายในการดำเนินกิจการได้เช่นเดียวกับรายจ่ายที่เกิดขึ้นนับแต่วันที่ได้จดทะเบียนจัดตั้งเป็นบริษัทฯ และในทางภาษีอากรก็ใช้หลักเกณฑ์ และเงื่อนไขในการพิจารณารายจ่ายที่จะนำมาถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียเงินได้นิติบุคคลเช่นเดียวกับรายจ่ายในการดำเนินกิจการทั่วไป กล่าวคือ

1. ต้องพิจารณาแยกให้ได้ว่า รายจ่ายนั้นเป็นรายจ่ายฝ่ายทุน หรือเป็นรายจ่ายในการดำเนินกิจการทั่วไป

หากเป็นรายจ่ายฝ่ายทุนก็ย่อมต้องคำนวณค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคานับแต่วันที่ได้มาซึ่งสินทรัพย์นั้น เฉพาะส่วนที่เป็นค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคมในช่วงเวลาก่อนที่จะได้จดทะเบียนจัดตั้งบริษัทฯ เท่านั้น ที่สามารถนำมาถือเป็นรายจ่ายได้ เมื่อจัดตั้งบริษัทฯ เรียบร้อยแล้วก็ให้คิดค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาต่อเนื่องไป

2. สำหรับรายจ่ายในการดำเนินกิจการให้นำหลักเกณฑ์ในมาตรา 65 ทวิ และมาตรา 65 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร มาเป็นหลักในการพิจารณา ซึ่งพอสรุปได้ดังนี้


(1) ต้องเป็นรายจ่ายที่เกี่ยวเนื่องโดยตรงกับการประกอบกิจการ และ
(2) ต้องเป็นรายจ่ายที่ได้จ่ายไปโดยมีเหตุผลความจำเป็นที่ต้องจ่ายรายการรายจ่ายนั้น และ
(3) ต้องเป็นรายจ่ายเป็นไปเพื่อกิจการหรือเพื่อการหากำไรโดยเฉพาะ และ
(4) ต้องเป็นรายจ่ายสิ้นเปลืองหมดไปในรอบระยะเวลาบัญชี โดยไม่ก่อให้เกิดกรรมสิทธิ์หรือสิทธิใดๆ ที่มีอายุการใช้งานเกินกว่าหนึ่งรอบระยะเวลาบัญชี และ
(5) ต้องเป็นรายจ่ายที่มีหลักฐานการจ่ายที่พิสูจน์ผู้รับได้ว่าเป็นบุคคลใด และ
(6) ต้องเป็นรายจ่ายที่ไม่เข้าลักษณะเป็นรายจ่ายต้องห้ามตามมาตรา 65 ทวิ และมาตรา 65 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร

กรณีเอกสารรายจ่ายที่เกิดขึ้นก่อนเปิดบริษัทฯ เป็นใบแจ้งหนี้และใบเสร็จรับเงินที่ออกในนามผู้ถือหุ้นและผู้เริ่มก่อการ นั้น

ขอเรียนว่ามีความเสี่ยงที่จะเป็นรายจ่ายต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี (3) รายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการส่วนตัว และ (18) รายจ่ายที่พิสูจน์ไม่ได้ว่าใครเป็นผู้รับ รวมทั้งอาจมีข้อสงสัยว่า เป็นรายจ่ายที่กำหนดขึ้นเองโดยไม่มีการจ่ายจริง ตามมาตรา 65 ตรี (9) แห่งประมวลรัษฎากร

ดังนั้น จึงควรที่ต้องมีเอกสารประกอบการจ่ายรายจ่ายทั้งหลายเหล่านั้น ตามหลักการควบคุมภายในที่ดี ประกอบการเหตุผลความจำเป็นที่ต้องจ่าย เพราะเหตุผลประการหนึ่งของการรวมตัวกันตั้งบริษัทฯ ก็เพื่อวัตถุประสงค์ในการมุ่งค้าและหากำไรมาแบ่งปันกัน หาใช่การที่จะมาฉกฉวยเอาจากบริษัทฯ ครับ

ที่มา..ที่มา..www.facebook.com/Suthep.Pongpitak

               ที่มา : สำนักงานสรรพากรพื้นที่ กรุงเทพมหานคร 3

สำนักงานบัญชี BEE - Accountant @beeaccountant
บริษัท บี.อี. แอคเคาน์ติ้ง เซอร์วิสเซส จำกัด ติดต่อ TEL 091-830-3543 ให้บริการ รับทำบัญชี รายเดือน รับทำรายปี จัดทำภาษี รายเดือน จัดทำภาษีรายปี และตรวจสอบบัญชี สำหรับกิจการนิติบุคคล หรือบุคคลธรรมดาทุกประเภทกิจการ
Click Here
ประเภทกิจการรับ ทำบัญชี
กิจการซื้อมาขายไป กิจการบริการ กิจการผลิต
ร้านทอง ร้านยา จำหน่าย รถยนต์ รถจักรยานยนต์ อัญมณี นำเข้า ส่งออก Agency ทัวร์ อสังหาริมทรัพย์ สิ่งพิมพ์ เครื่องจักร ขนส่ง จัดหาพนักงาน นายหน้า ประกันชีวิต ประกันวินาศภัย คลินิก ความงาม ทันตกรรม ผลไม้ พื้นที่เช่า Co working space อาหาร รับเหมา เครื่องจักร ธุรกิจที่ถูกต้องตามกฎหมายทุกประเภท
Click Here
ข้อดีของบริการ รับทำบัญชี ของสำนักงานบัญชี
ผู้ประกอบการได้ทุ่มเททรัพยากรทั้งหมดไปที่ธุรกิจหลักของกิจการได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ​ ควบคุมค่าใช้จ่ายของกิจการ ประมาณการวางแผนงบประมาณได้ดี
สำนักงาน update ความรู้และ เทคโนโลยีให้ทันกับหน่วยงานต่างๆ เช่น กรมสรรพากร
ธุรกิจการต่างๆ เช่น ร้านค้าออนไลน์ กิจการซื้อมาขายไป กิจการผลิต กิจการนายหน้าประกันชีวิต นายหน้าประกันวินาศภัย (ตามกฎ OIC)​
Designed by pch.vector / Freepik
รับทำบัญชี
Click Here
Previous
Next
Facebook
Twitter
LinkedIn
Facebook
Twitter
LinkedIn

Related Articles | บทความที่คุณอาจสนใจ

การค้นหาที่เกี่ยวข้องกับ รายจ่ายฝ่ายทุน ตัวอย่างรายจ่ายฝ่ายทุน รายจ่ายฝ่ายทุน ภาษี รายจ่ายฝ่ายทุน มาตรฐานการบัญชี รายจ่ายฝ่ายทุน งบการเงิน ภาระผูกพันรายจ่ายฝ่ายทุน รายจ่ายฝ่ายรายได้ หมายถึง รายจ่ายลงทุน คือ ค่าซ่อมแซม บันทึกบัญชี สินทรัพย์ถาวร อาคาร อุปกรณ์ เครื่องมือเครื่องใช้

Bee-Accountant service

Our mission

Bee Accountant ยึดมั่นในความถูกต้อง โปร่งใส ตรงเวลา งานได้คุณภาพ ตรวจสอบได้จากทุกหน่วยงาน เช่น กรมสรรพากร กรมพัฒนาธุรกิจการค้า  คปภ และหน่วยงานอื่นๆ

บริษัท บี.อี. แอคเคาน์ติ้ง เซอร์วิสเซส จำกัด
สำนักงานใหญ่ TAX ID 0105561120432

Contact us

Post Views: 13,364

BeE Accountant

we'd love to have your feedback on your experience so far

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

บันทึกการตั้งค่า